*เมืองไทยวันนี้*

05 พฤษภาคม 2557, 08:44น.


ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2557



          ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมือง



          คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. จะออกจากสวนลุมพินีไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อร่วมถวายพระพรเนื่องในวันฉัตรมงคลและทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน แสดงความจงรักภักดีว่าจะทำความดีเพื่อแผ่นดินต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินให้สำเร็จที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถือเป็นการเริ่มวันเผด็จศึกที่มี 3 ขั้นตอน จากนั้นวันที่ 13 พฤษภาคมจะมีการทำบุญครั้งใหญ่ถือเป็นการทำบุญประเทศ และวันที่ 14 พฤษภาคมจะเป็นวันชุมนุมใหญ่เรียกคืนอำนาจอธิปไตย



ที่พรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าโรดแม็ปทางออกของประเทศ 10 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย



โดยในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดไต่สวนสถานภาพของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แต่นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เป็นกังวล และไม่กระทบต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ เพราะหากคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ก็นำร่างขึ้นกราบบังคมทูลได้



โดยในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมจะออกนั่งบังลังก์ไต่สวนพยาน 4 ปาก ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย



อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง คาดว่าการส่งเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งอาจไม่ทันวันที่ 6 พฤษภาคมนี้  โดยในวันที่ 6 พฤษภาคม กกต.จะพิจารณาร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป



นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศโดยขอให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งวันที่ 20 กรกฎาคมออกไปก่อนว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน และต้องให้รัฐบาลตัดสินใจ หากรัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ขอให้แจ้งมายังกกต. แต่หากรัฐบาลไม่มีท่าทีใดๆ กกต.ก็พร้อมเดินหน้าจัดการเลือกตั้งส.ส.ตามที่ตกลงร่วมกับรัฐบาลไว้



นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน แต่จะเห็นได้ว่ามีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดในเชิงปฏิเสธแล้ว ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายอย่าปฏิเสธเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ช่วยกันเสนอแนะข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย เพราะแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่จำเป็นว่าต้องมีสูตรเดียว แต่อาจมีหลายสูตรเพื่อมาผสมรวมกันให้เป็นทางออกของประเทศได้



นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เตือนเรื่องที่ วุฒิสภาจะมีการเลือกตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภาในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ โดยกล่าวว่าการเลือกประธานวุฒิสภา ไม่เคยทำในการประชุมสมัยวิสามัญ อีกทั้งการประชุมในครั้งนี้ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญได้กำหนดกรอบทำหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ชัดเจนว่ามีเพียง 2 เรื่อง คือ ตั้งคณะกรรมาธิการสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง และ ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป.ป.ช. เท่านั้น ดังนั้น การดำเนินการเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ดำเนินการนอกเหนือไปจากที่พ.ร.ฎ. กำหนด และศาลจะต้องรับไว้พิจารณาอย่างแน่นนอน เพราะเอกสิทธิ์ที่คุ้มครองการลงมติของส.ส. และส.ว.ในมาตรา 130 ไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว 



          ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ



นายลักษณ์  วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 ที่จะถึงนี้ได้ประสานงานไปยังกระทรวง การคลังและสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบเพื่อชำระหนี้คืนและจ่ายชดเชย ส่วนต่างจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในระยะที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารสภาพคล่องในปีบัญชี 2557 ซึ่งการจัดสรรก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรวงเงินชำระคืนได้ตามที่ขอไปก็คงต้องมาพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้คืนธ.ก.ส.ออกไปหรือไม่



 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้เป็นปัญหากับฐานะธนาคารของรัฐ เนื่องจากยังมีภารกิจสำคัญในการช่วยปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากธนาคารของรัฐมีฐานะการเงินไม่ดีก็จะเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้



จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่งคือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่รายงานมายังกระทรวงการคลังล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีตัวเลขหลายตัวบ่งชี้ว่าน่าเป็นห่วง โดยพบว่าการปล่อยสินเชื่อในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคือเดือนมกราคม 2557 สินเชื่อขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น



นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายตรึงราคาสินค้า 6 เดือนว่า เป็นมาตรการขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับห้ามขึ้นราคาสินค้า ซึ่งหากสินค้าใดเจอปัญหาต้นทุนสูง แบกรับไม่ไหว ก็สามารถยื่นเรื่องให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบโครงสร้างราคาก่อนปรับราคา ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม และให้เอกชนเข้ามาชี้แจงหากเห็นว่าสินค้าต้องปรับราคา



ส่วนเรื่องการจัดสอบยูเน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ในนามกลุ่มต่อต้านการสอบ U-Net จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 1 แสน 1 หมื่นรายชื่อเตรียมนำรายชื่อนิสิตนักศึกษาจำนวน 5 หมื่นรายชื่อยื่นต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีศึกษาธิการ และนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสทศ. ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา (ยูเน็ต) โดยในวันนี้จะมีการประชุมนัดพิเศษของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของ สทศ.เรื่องการจัดสอบยูเน็ต และจะแถลงข่าวในเวลา 11.00 น.



เรื่องแรงงาน น.ส.ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัย "ชีวิตแรงงานหญิงกับวงจรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ปี 2556-2557 โดยสำรวจจากกลุ่มแรงงานหญิงพื้นที่จ.นนทบุรี เครือข่ายสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ และแรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน จำนวน 1,667 คน พบว่าแรงงานหญิงมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบต่อเนื่องและเพิ่มระดับดีกรีขึ้น ซึ่งมีผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มที่จะถูกลวนลาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การเกิดอุบัติเหตุ และความขัดแย้งทะเลาะวิวาทในครอบครัวด้วย ผู้วิจัยระบุว่าที่น่าเป็นห่วงคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ที่พบร้อยละ 5.55 ของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้การดื่มของแรงงานหญิงยังส่งผลต่อการทำงาน คือ มีปัญหากับนายจ้าง ขาดงาน ส่งผลต่อการทำงานล่วงเวลา จึงเสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในโรงงาน ส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานหญิง การจัดการภาวะทางอารมณ์ ส่งเสริมทักษะชีวิตด้านจัดการปัญหา และควรมีการพัฒนาสภาพการทำงานและสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้น



ด้านนางสุรินทร์ พิมพา ผู้นำแรงงานหญิงกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาครและจ.นครปฐม กล่าวว่า ปัญหาแรงงานหญิงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขจริงจัง รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วงลาคลอดมีระยะเวลาสั้นเกินไป หรือแม้กระทั่งการถูกปลดออก ทั้งที่มีกฎหมายห้ามปลดออกอย่างชัดเจน



และเรื่องสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเตือนแพทย์และเภสัชกรไม่ให้จ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มก./เม็ด เพราะอย.สหรัฐจัดเป็นยาที่ไม่ปลอดภัย โดยอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อตับ ถ้าเภสัชกรได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้จ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มก./เม็ด ให้ติดต่อแพทย์ผู้สั่งยาและเสนอแนะยาผสมที่มีพาราเซตามอลในปริมาณต่ำกว่า 325 มก./ เม็ดแก่ประชาชนแทน นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า  ยาพาราฯ ที่วางขายในท้องตลาดจะมีปริมาณยาขนาด 500 มก./เม็ด รับประทานครั้งละ 2 เม็ดต่อครั้งในผู้ใหญ่ บางครั้งมีการกินยาพาราฯ ร่วมกับยาตัวอื่นที่มีส่วนผสมของพาราฯ เข้าไปด้วย เช่น ยาแก้หวัด ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาด นอกจากนี้คนไทยยังกินยาพาราฯ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์  จึงเรียกร้องให้มีการพิจารณายาทุกชนิดที่มีส่วนผสมยาพาราฯ บังคับให้มีการติดฉลากกำกับอย่างชัดเจน และไม่ให้รับประทานซ้ำกับยาพาราฯ แบบเดี่ยวๆ



..

ข่าวทั้งหมด

X