กรมที่ดินเผย ผลสอบมิจฉาชีพใช้ข้อมูลหลายแหล่ง รวมถึงแอปพลิเคชัน LandsMapsของกรมที่ดินด้วย

16 สิงหาคม 2566, 13:01น.


          นายธนกรณ์ สกุลกิม ผู้อำนวยการกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กรมที่ดิน เปิดเผยว่า อธิบดีกรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างชื่อกรมที่ดิน หลอกลวงประชาชน  โดยมอบหมายให้ นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.)ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ข้อมูลไม่ได้รั่วไหลจากกรมที่ดิน ระบบฐานข้อมูลของกรมที่ดินไม่ได้ถูกแฮ็ก



          มิจฉาชีพได้ข้อมูลมาจากหลายแหล่งแล้วนำมาประกอบกัน โดยได้ชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทร จากบริษัทหรือพนักงานที่ให้บริการส่งสินค้า หรือจาก Dark Web จากนั้นจึงนำที่อยู่ของเหยื่อมาเสิร์จหาตำแหน่งที่ตั้งจาก Google Maps เมื่อรู้ว่าอยู่บริเวณใดแล้ว ก็ใช้โปรแกรม LandsMaps ในการค้นหาเลขโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ และราคาประเมินที่ดิน (LandsMaps คือระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน ซึ่งเป็นโปรแกรมของกรมที่ดินที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเชื่อมต่อระบบนำทางแผนที่สากลของ Google Maps ซึ่งให้บริการฟรีแก่ประชาชน) โดยมิจฉาชีพจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้หลอกเหยื่อว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน ทำให้เหยื่อหลงเชื่อเพราะมิจฉาชีพรู้ข้อมูลอย่างละเอียด



          จุดเด่นอีกข้อของ LandsMaps คือเชื่อมกับ Google Earth สามารถใช้ Street View Google เข้าไปดูได้ว่าบริเวณรอบบ้าน หรือบริเวณที่ดินของเหยื่อ มีอะไรบ้าง เช่น มีศาลพระภูมิ ,รั้วบ้านสีน้ำเงิน รู้หมด ทำให้เหยื่อยิ่งเชื่อถือ ซึ่งที่จริงกรมที่ดินทำแอปพลิเคชัน LandsMaps ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบว่าแปลงที่ดินอยู่ตรงไหน ราคาประเมินเท่าไหร่ ถ้าจะทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินต้องติดต่อสำนักงานไหน แต่มิจฉาชีพกลับนำข้อมูลนี้ไปใช้หลอกให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริง  



          เนื่องจากพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้นำข้อมูลจากแอปพลิเคชัน LandsMaps มาใช้ในการหลอกลวงประชาชน กรมที่ดินจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน LandsMaps รูปแบบใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ระบบ LandsMaps จะแสดงข้อมูลเลขโฉนดที่ดิน หน้าสำรวจ และเลขที่ดิน เฉพาะผู้ที่เข้าใช้งานระบบโดยยืนยันตัวตนผ่าน ThaiD หรือใช้ระบบผ่านทางรัฐเท่านั้น



          กรมที่ดินตรวจสอบในระบบอย่างละเอียด อย่างเคสของนักข่าวท่านหนึ่ง หรือเคสที่ผู้เสียหายไปร้องกับสื่อ ได้ตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรในสำนักงานที่ดิน ไม่พบว่ามีคนนอกเจาะระบบเข้ามา ส่วนคนในจะรู้เห็นด้วยหรือไม่ต้องตรวจสอบเป็นกรณีไป แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผู้เสียหายรายใดแจ้งความประสงค์ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ดิน



          ก่อนหน้านี้ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ให้สัมภาษณ์ถึงพฤติกรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ว่า กรมที่ดินได้รับร้องเรียนว่ามีการหลอกลวงในลักษณะนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 โดยพบว่าในช่วง มี.ค.-เม.ย. ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม มิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินจะรู้ชื่อคอนโด รู้เลขห้อง ถูกต้องหมด จะถามว่าห้องชุดที่เหยื่อเป็นเจ้าของให้คนเช่า หรืออยู่เอง เมื่อเหยื่อตอบว่าอยู่เอง มิจฉาชีพก็แย้งว่า แต่จากการตรวจสอบพบว่าให้คนอื่นเช่า ซึ่งอาจเป็นเพราะฐานข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ต้องเสียภาษีและเบี้ยปรับ 20,000-40,000 บาท โดยให้เอาโฉนดห้องชุด ทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน ไปที่สำนักงานที่ดิน แต่มิจฉาชีพโทรไปหาเหยื่อเลยเวลาราชการแล้ว และจะอ้างว่าวันนี้ครบกำหนดวันสุดท้ายพอดี ถ้าวันนี้อัพเดทข้อมูลไม่ทันต้องเสียค่าปรับ 40,000 บาท เมื่อเห็นว่าเหยื่อตกใจ มิจฉาชีพก็อ้างว่ามีบริการพิเศษโดยสามารถอัพเดทข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Smart Land ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับแอปฯของกรมที่ดินแต่เป็นแอปฯปลอมที่มิจฉาชีพทำขึ้น พอเหยื่อโหลดแอปฯที่มิจฉาชีพส่งมาเงินก็จะถูกดูดเงินในบัญชีออกไปหมด



          ให้สังเกตว่า แอปฯ Smart Land ของกรมที่ดินของจริง จะต้องดาวน์โหลดจาก App Store และ Play Store เท่านั้น โดย URL ของแอปฯกรมที่ดินของจริงคือ www.dol.go.th ซึ่ง th ย่อมาจากไทยแลนด์ หมายถึงเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่ UPL แอปฯปลอมที่มิจฉาชีพส่งให้เหยื่อจะใช้ www.dol-ro.cc หรือ www.dol-thgo.cc โดยจุดสังเกตคือลงท้ายด้วย cc ซึ่งเป็นชื่อย่อของหมู่เกาะโคโคส ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในเครือออสเตรเลีย



          กรมที่ดินเริ่มเก็บสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาตั้งแต่ 1 มี.ค.- 15 ส.ค. 2566 พบว่า มีผู้โทร.มาสอบถามและแจ้งว่าตกเป็นเหยื่อและสูญเงินไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 3,098 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล



          กรมที่ดินขอย้ำแจ้งเตือนภัยว่าไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทร.หาเจ้าของที่ดินเพื่ออัพเดทข้อมูลทุกประเภท และที่สำคัญสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ก็คือการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ภารกิจของกรมที่ดิน แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  





 



 



 



#ผลสอบมิจฉาชีพอ้างกรมที่ดิน



 

ข่าวทั้งหมด

X