ก้าวไกลยัน 'พิธา' ไม่ยื่นศาล รธน.แม้จะเป็นผู้เสียหายปมห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ

16 สิงหาคม 2566, 15:53น.


ก้าวไกลเตรียมเสนอญัตติทบทวน



          นายรังสิมันต์ โรม  สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน  โดยระบุว่า  การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ก็หมายความว่าไม่ได้มีการพิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ร้อง  เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการ   ซึ่งพรรคก้าวไกลเองก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีเช่นนี้ เป็นกรณีที่สภาควรหารือกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา  เพราะโดยหลักการแล้ว สภามีอำนาจในการแก้ไขปรับปรุง  ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งญัตตินั้นมีผู้รับรองถูกต้องแล้ว



        ดังนั้น ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลก็ยืนยันที่จะเสนอญัตติดังกล่าวต่อไป และหวังว่า กระบวนการนี้จะทำให้สภาทำในสิ่งที่ถูกต้อง  และพรรคก้าวไกลไม่ได้ตีรวนทางการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีได้แล้ว



          นายรังสิมันต์ ยังระบุด้วยว่า  การเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าเสนอรอบแรกไม่ผ่าน แล้วจะมาบอกว่าไม่มีสถานะนั้นแล้ว การพิจารณากันแบบนี้ เป็นการเล่นการเมืองโดยไม่พิจารณาบนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย



         ส่วนตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง  จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่  นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่ยื่นแน่นอน เพราะยืนยันมาตลอดว่า เรื่องนี้เป็นกิจการของสภา  ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา จึงเป็นที่มาที่พรรคอยากใช้กลไกสภาฯ อย่างถูกต้อง  และเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ  ไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธา กลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯอีก  เพราะวันนี้นายพิธา ไม่ได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่เป็นการเสนอเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง  เพราะกังวลว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง ต่อจากนี้ แคนดินเดตนายกฯ แต่ละคน อาจจะมีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อได้เพียงครั้งเดียว จึงเป็นที่มาที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติให้ทบทวนมติดังกล่าว เพราะอาจกลายเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งเรื่องการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภาไม่ใช่มีเฉพาะนายกฯ เท่านั้น แต่มีอีกหลายกรณีที่มีความสำคัญ  จึงไม่อยากให้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดเช่นนี้  แคนดิเดตนายกฯจะเป็นใครก็ตาม ล้วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล  ยกเว้นบางฝ่ายจะวางหมากให้การเสนอแคนดิเดตเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว เช่น พรรคก้าวไกลไม่ผ่าน และอีกบางพรรคไม่ผ่าน  แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้  หรือเป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก แต่นาทีนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่



          ส่วนกรณีที่ญัตติของพรรคก้าวไกลถูกประธานรัฐสภาใช้อำนาจประธานวินิจฉัยให้ตกไปแล้ว นายรังสิมันต์ ระบุว่า ในการประชุมครั้งนั้น ประธานไม่ได้อ้างข้อกฎหมาย เพียงแต่ชี้แจงว่าขอให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของประธาน ที่จะให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนจึงค่อยพิจารณา  ซึ่งจะรอหารือกับประธานรัฐสภาอีกครั้ง



          นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เมื่อผู้ร้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม  ทางพรรคก็จะเอาเอกสารตรงนี้มาพิจารณา  เพื่อเขียนคำชี้แจงในส่วนของรายละเอียดที่เพิ่มเข้ามา  ซึ่งการขยายระยะเวลาตรงนี้ จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็คงอยู่ที่กระบวนการ และโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจอย่างไร  แต่ยืนยันว่า เราทำถูกต้องทุกอย่างในการเสนอนโยบายไปที่ กกต. แต่ที่เป็นปัญหา เพราะเราดันได้ที่ 1 ถ้าเราไม่ได้ที่ 1 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการกลั่นแกล้งโดยใช้นิติสงครามอย่างที่ทำกันอยู่ ก็คงไม่มาถึงจุดนี้กัน ส่วนตัวมั่นใจในพยานหลักฐานและการต่อสู้คดี จึงยังไม่กังวลว่าจะมีการยุบพรรค เพราะกระบวนการที่ทำมา เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด



         นายรังสิมันต์ ย้ำว่า มาตรา 112 เคยมีการแก้ แก้มาโดยตลอด ล่าสุดคือคณะรัฐประหาร ถ้าที่ผ่านมาการแก้มาตรา 112 ทำได้  ก็อยากให้ความเป็นธรรมกับพวกเราด้วย ว่า เจตนาของพวกเรา พยายามใช้กระบวนการปกติ ในการแก้กฎหมาย ไม่มีอะไรเลย



#พรรคก้าวไกล



#โหวตนายก



#ศาลรัฐธรรมนูญ



#พิธาลิ้มเจริญรัตน์



#รังสิมันต์โรม

ข่าวทั้งหมด

X