เมื่อช่วงตรู่วันนี้ (18 กันยายน 2566) หลายพื้นที่อาจจะมีฝนตก ทำให้พลาดชม ดาวศุกร์สว่างที่สุด เพจNARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำ ภาพดาวศุกร์ หรือ ดาวประกายพรึกที่สุกสว่างที่สุดเป็นครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้อีกด้วย
ภาพที่ได้ชมกัน พบว่า เห็นดาวศุกร์สว่างที่สุดได้ชัดเจนในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ทีมสงขลาจึงได้เก็บภาพมาให้ชม ดาวศุกร์สว่างที่สุด หรือ (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า“ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นคนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
#ดาวศุกร์สว่างที่สุด
CR:NARITสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ