การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน บทบาทของภาคเอกชนเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟ ในประเทศไทยและเวียดนาม นับเป็นบริษัทขนาดอันดับ 2 ของโลกในเครือสหภาพยุโรป สัญชาติเยอรมนี เชี่ยวชาญด้านการผลิตสารเคมี ได้จัดงานเสวนา “Sustainability Forum” ว่าด้วยความสำคัญในการจัดทำคาร์บอนฟุต พริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและโภชนาการ เพื่อส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสในปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริม เนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่กลุ่มธุรกิจของบีเอเอสเอฟได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรทางธุรกิจ “ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์" เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
รสจันทร์ โลหะกิจสงคราม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟ ในประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชน มีความใส่ใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม "บีเอเอสเอฟ จึงเร่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ โดยแผนในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของบริษัทมุ่งเน้นใน 5 เรื่องหลัก คือ
–เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ใช้ในโรงงาน ในสัดส่วนมากกว่า 60% ภายในปีค.ศ. 2030 (ปัจจุบันมีสัดส่วน 16%) โดยมีการลงทุนในโครงการฟาร์มกังหันลมและติดตั้งแผงโซลาร์มากมาย
-การใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนพลังงานจากฟอสซิลในโรงงาน
-การใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่ทำให้ปราศจากคาร์บอนในกระบวนการผลิต
- การทดแทนวัตถุดิบที่มาจากน้ำมันด้วยวัตถุดิบหมุนเวียนได้ที่มาจากพืช และ
-การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ด้านบีเอเอสเอฟ ซี่งมีบริษัทแม่อยู่ในเมืองลุดวิกส์ฮาเฟน ประเทศเยอรมนี ได้ให้ความร่วมมือทั้งกับภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร อาทิ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการสนับสนุนโซลูชั่นหลังการใช้งานเพื่อให้สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งเดินหน้าปลูกฝังและให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาในเรื่องความสำคัญของความยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ล่าสุด บทบาทของรัฐบาลไทย ในที่ประชุมสหประชาชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 โดยได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว
#BASF
#ลดภาวะโลกร้อน