*ศอ.รส.แถลงการณ์ฉบับที่ 3 ดักคอศาลรธน.ก่อนชี้ขาดคดีนายกฯ ไม่เป็นรธน.เกิดความวุ่นวายแน่*

06 พฤษภาคม 2557, 20:22น.


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) อ่านแถลงการณ์ศอ.รส.ฉบับที่ 3 โดยยังอ้างถึง  การใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นไป ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ทั้งที่ควรจะทำงานตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี



นอกจากนั้น จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญในหลายคดีที่ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า มีปัญหาในเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในหลายๆคดี



ศอ.รส. ยังยกคำวินิจฉัยที่จะมีขึ้นพรุ่งนี้ ในประเด็น ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบกับมาตรา 266 และมาตรา 268 โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่าย หรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้น คล้ายกับ คำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีซึ่งมีคำวินิจฉัย ให้ ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลง เฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป  ศอ.รส.ยังระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลด้านการข่าวว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเกินเลยไปถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถกระทำได้ 



ส่วนข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ศอ.รส.มองว่า  แท้จริงแล้วข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ คือหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และประการสำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญนั่นเอง



 ศอ.รส.จึงขอเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กร และเห็นถึงความสำคัญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา และวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรง  ยืนยันว่ามิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจะเกิดความไม่พอใจขยายตัวในวงกว้าง และเกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน แถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องในครั้งนี้จึงเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่อันเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะละเลยเสียได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการของ ศอ.รส. โดยไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็น และดำเนินการด้วย



 



 



#แฟ้มภาพ 

ข่าวทั้งหมด

X