ฝรั่งเศส ประกาศภาวะฉุกเฉินในนิวแคลิโดเนีย นานาชาติแนะเปิดโต๊ะเจรจายุติปัญหา

16 พฤษภาคม 2567, 15:05น.


          หลังจากรัฐสภาฝรั่งเศส ลงมติเมื่อวันอังคาร(14 พ.ค.67)ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยให้พลเมืองชาวฝรั่งเศสที่มีที่พักอาศัยประจำอยู่ในนิวแคลิโดเนียมีสิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่น ให้บางคนกังวลว่าจะทำให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิมีเสียงลดลง กลุ่มซีซีเอที (CCAT) ได้ชักชวนคนออกมาชุมนุมประท้วง และกลายเป็นเหตุจลาจล 



          การชุมนุม ยืดเยื้อ 3 คืนแล้ว มีการใช้ความรุนแรง เช่น  มีการปล้นร้านค้า การเผารถยนต์หลายคันและสถานที่ราชการ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้ รวมถึงตำรวจ 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน จากเหตุปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง



          สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้าง น.ส.พริสกา เธเรนอท โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ประกาศภาวะฉุกเฉินในนิวแคลิโดเนียในวันนี้ (16 พ.ค.67) สั่งให้ตำรวจ-ทหาร 2,300 นายเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานที่สำคัญๆ เช่น ท่าเรือและสนามบินนานาชาติในกรุงนูเมอา พร้อมประกาศมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านในยามค่ำคืน นอกจากนี้  ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เสนอจะเปิดเวทีพูดคุยกับสมาชิกนิติบัญญัติของนิวแคลิโดเนียในวันนี้ เพื่อหารือแนวทางการคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น หลังเกิดเหตุความไม่สงบครั้งร้ายแรงที่สุดในนิวแคลิโดเนียในรอบ 40 ปี



          นายหลุยส์ เลอ ฟรองซ์ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสเผยว่า กองทัพกำลังดูแลท่าอากาศยาน 2 แห่ง และท่าเรือ 1 แห่ง มีการกักบริเวณผู้ที่ยุยงให้คนก่อจลาจลอย่างน้อย 4 คน สารวัตรทหารใน 3 เทศบาลต้องรับมือกับผู้ก่อจลาจลประมาณ 5,000 คน ในจำนวนนี้ 3,000-4,000 คนอยู่ในกรุงนูเมอาที่เป็นเมืองหลวง มีผู้ถูกจับกุมประมาณ 200 คน สารวัตรทหารและตำรวจได้รับบาดเจ็บ 64 นาย นอกจากนี้การที่ผู้ชุมนุมตั้งสิ่งกีดขวางตามท้องถนนกำลังเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงอาหารและยาให้แก่ประชาชน



          ด้าน นายวินสตัน ปีเตอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์ขอให้ทุกฝ่ายคลี่คลายสถานการณ์ที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งไปทั่วภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก ขณะที่นายชาร์ลอต ซาลไว นายกรัฐมนตรีวานูอาตูกล่าวว่า การทำลายทรัพย์สินอย่างไม่เลือกหน้าจะให้เศรษฐกิจของนิวแคลิโดเนียเสียหายครั้งใหญ่ และจะส่งผลกระทบหนักต่อชีวิตของชาวแคลิโดเนียรวมถึงชนพื้นเมืองชาวคานัก (Kanaks)



          พร้อมกับเสนอให้ฝรั่งเศสเปิดการเจรจากับพรรคเอฟแอลเอ็นเคเอส (FLNKS) ที่มีแนวทางสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส เพราะพรรคนี้ประณามการก่อจลาจล รวมทั้งขอให้ฝรั่งเศสยกเลิกการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนิวแคลิโดเนียที่เป็นต้นเหตุของจลาจล ด้านนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวในรัฐสภาว่า ออสเตรเลียสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหารือกัน



         นิวแคลิโดเนีย เป็นประเทศเกาะที่อุดมด้วยแร่ธาตุ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอยู่ห่างจากออสเตรเลียไปทางตะวันออก 1,500 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่าง ออสเตรเลียกับฟิจิ มีประชากร 269,220 คน เป็นหนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลหลายแห่งทั่วโลกที่ยังคงเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสในช่วงหลังยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนนี้ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบัน ชาวพื้นเมือง รวมถึงชนเผ่าคานัค สนับสนุนให้มีการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส 



#ฝรั่งเศส



#ประกาศภาวะฉุกเฉิน



#จลาจลในนิวแคลิโดเนีย

ข่าวทั้งหมด

X