กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เตรียม เรียกค่าดูแลลูกเสือโคร่ง จากเจ้าของเสือ เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ต้องดูแลเสือโคร่งมากกว่า 10 ปี เป็นเงิน 1,394,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าและค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ.2565
ย้ำเลี้ยงลูกเสือโคร่งผิดกฎหมาย มีความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แล้วยังต้องจ่ายค่าดูแลตามระเบียบกรมอุทยาน ฯ อีกด้วย และล่าสุดพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งชื่อให้ลูกเสือโคร่งแล้วว่าน้อง ‘นีน่า’
จากกรณีที่มีลูกเสือโคร่งหลุดออกมาเดินอยู่ในชุมชนต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงดึกของวันที่ (16 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยเจ้าของอ้างว่าเป็นลูกสิงโตผสมเสือโคร่ง หรือ “ไลเกอร์” และได้มีการเพ้นท์สีให้เหมือนเสือเพื่อเข้าฉากถ่ายทำภาพยนตร์
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ตรวจยึดเสือโคร่งจากผู้ที่ระบุว่าเป็นเจ้าของคือ นายโยธิน (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่หลุดออกมาในชุมชนพบว่าไม่ใช่ 'ไลเกอร์' แต่อย่างใด
จากการตรวจสอบลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าว ไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) จึงมีความผิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 15 ฐานปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกเสือโคร่ง)พ้นจากการดูแลของตน มาตรา 17 ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกสิงโต)โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคสอง ฐานไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขแจ้งการรับแจ้งตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด จึงได้ส่งไปให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากดูแล
ตรวจอาการเบื้องต้นพบว่า สองขาหลังของลูกเสือตัวดังกล่าวลงน้ำหนักได้ แต่ไม่แข็งแรงมาก (ขาหลังอ่อน) ซึ่งจะต้องตรวจดูอาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง และต้องเสริมสารอาหารจำพวกแคลเซียม และให้กินอาหารที่ถูกหลักตามโภชนศาสตร์ที่ลูกเสือโคร่งควรได้รับตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันภาวะโรคกระดูกบาง กระดูกเสื่อม ในลูกสัตว์ได้ ส่วนการเลี้ยงดูแล จะต้องทำการแยกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อทำการกักโรค ภายใน 7 วัน ไม่ปล่อยเดินเล่นนอกอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์ แต่ที่อาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์สามารถเปิดรับแสงแดดได้ในยามเช้า และในระหว่างการกักโรค ภายใน 7 วัน สัตวแพทย์จะต้องดำเนินการ เจาะเลือด เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และทำการส่งเก็บเลือดไปยังหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อทำการตรวจชนิดพันธุ์ของลูกเสือโคร่ง และทำการฝังไมโครชิฟ เพื่อทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า ต่อไป
Cr:เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชhttps://shorturl.asia/ObGcd
#น้องนีน่า
#ลูกเสือโคร่ง