รู้จัก บ.วีเอทฯ ผู้เสนอราคาประมูลข้าวเก่า 10 ปีสูงสุด เชื่อมโยงโรงสีข้าวรายใหญ่จ.กำแพงเพชร

20 มิถุนายน 2567, 18:50น.


           การประมูลข้าวอายุ 10 ปีของรัฐบาล ที่ผลประมูลออกพบว่า บริษัทวีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง เสนอราคาสูงสุด ทำให้ทุกคนถามว่า บริษัทแห่งนี้คือใคร ขอบคุณข้อมูลจากไทยพีบีเอสออนไลน์ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) พบว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จาก จ.กำแพงเพชร เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของสวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร และโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ ประกอบธุรกิจประเภท จำหน่ายพืชผลทางการเกษตร หมวดธุรกิจ การขายส่งวัตถุดิบอื่นๆทางการเกษตรซึ่งมิได้จัดประเภทไว้



          บริษัทที่ชนะการประมูลเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของกลุ่มโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ (สำนักงานใหญ่) ซึ่งเป็นมือเก่าในวงการโรงสีข้าวเช่นกัน โรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ ประกอบธุรกิจโรงสีข้าว ตั้งอยู่ที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน พื้นที่โรงงานตั้งอยู่ บริเวณที่มีการเพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบทั้งในจ.กำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร



           มีข้อมูลระบุว่า ช่วงปลายปี 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนภาคเอกชนของไทยประมาณ 50 ราย ร่วมเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหารือการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน 1ใน 50 ภาคเอกชนไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในงาน Belt and Road Forum ในการจัดซื้อมันสำปะหลังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 คือ บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด และบริษัท COFCO Group รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน จำนวน 500,000 ตัน คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณกว่า 4,600 ล้านบาท 



           แหล่งข่าวจากโรงสี เปิดเผยว่า ราคาที่ประมูล 19 บาทถือว่าสูงมาก แต่ก็อยู่ในราคาที่คาดเดา 18-19 บาท แต่ถือว่าดี เพราะข้าวจะได้ระบายออก เพียงแต่รัฐบาลอย่ามาดรามาว่า ข้าว 10 ปี ยังสามารถประมูลได้ราคาดี แล้วข้าวเมื่อ 3-4 ปีที่รัฐบาลยุคคสช.ประมูลทำไมขายได้ในราคา 3 บาท 5 บาท ไม่เช่นนั้นเรื่องก็จะไม่จบ



          จากข้อมูลในแวดวงโรงสี ทราบว่า บริษัทวีเอทฯทำโรงสีข้าวนึ่ง และมีการส่งออกบ้างเล็กน้อย เชื่อว่าข้าวหอมมะลิที่ประมูลได้ ไม่น่าจะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ คาดว่าจะถูกนำไปขัดสีปรับปรุงใหม่ เพื่อขายเป็นข้าวถุงขายในแบรนด์ของตัวเอง และจำหน่ายในประเทศมากกว่าซึ่งแบรนด์อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เชื่อว่าหลังจากนำไปปรับปรุงแล้วก็ขายได้ เนื่องจาก ข้าวหอมมะลิที่ประมูลไปไม่ได้เสียทั้งกอง ส่วนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆเหมือนไฟไหม้ฟาง แม้ช่วงแรกๆผู้ซื้ออาจจะมีความหวาดระแวงบ้าง แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า ข้าวที่ซื้อมาบริโภคเป็นข้าวอายุกี่ปี และอาจจะขายในแบรนด์ที่ไม่มีชื่อเสียง



           แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว กล่าวกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า สำหรับข้าวที่ประมูล 15,000 ตัน ไม่น่าจะขายเป็นข้าวหอมมะลิได้ เพราะเป็นข้าวที่มีอายุนาน 10 ปี เมล็ดข้าวมีความแข็งไม่นุ่ม แบบข้าวหอมมะลิ ไม่มีความหอมเหมือนข้าวปกติซึ่งหากนำไปจำหน่ายควรจะต้องขายเป็นข้าวเก่าหรือข้าวขาวธรรมดา ราคาเฉลี่ย 20 กว่าบาทต่อกก. ปกติขั้นตอนการนำข้าวไปขัดสี จะต้องผ่านการปรับปรุงข้าว น้ำหนักของข้าวจะต้องหายไปมาก รวมทั้งต้นข้าวที่กลายเป็นปลายข้าวเพิ่มมากขึ้นซึ่งโรงสีหรือผู้ประกอบการจะต้องคำนวณใหม่ว่าจะเหลือต้นข้าวที่ขายได้เท่าไหร่รวมค่าขนส่งที่ต้องไปรับที่โกดังจ.สุรินทร์ ซึ่งหักลบแล้วน่าจะมีต้นทุนอยู่ที่ 20 กว่าบาท ถือว่ามีราคาแพงว่าข้าวขาวปกติ เพราะราคาข้าวใหม่ราคาตอนนี้อยู่ที่ 21 บาทกว่าๆต่อกก. นอกจากนี้ ข้าวจำนวน 150,000 กระสอบ ไม่ทราบว่าจะมีคุณภาพดีทุกกระสอบหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่รวมต้นทุนการปรับปรุงคุณภาพ ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประมูลข้าวล็อตนี้โดยเฉพาะมากกว่า



          ส่วนผลกระทบของตลาดข้าวไทย ในแง่จิตวิทยา โดยเฉพาะตลาดข้าวถุงนั้น สิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ข้าวล็อตนี้จะส่งไปที่ไหน ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นเรื่องที่สืบค้นได้ยาก แต่ถ้าเป็นผู้ส่งออกเป็นโรงสีจะค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าไม่ขายในประเทศน่าจะส่งออกในแถบแอฟริกาบางประเทศที่นิยมข้าวเก่า แต่ก็จะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากผู้ซื้อเช่นกัน แต่บริษัทดังกล่าวอาจจะให้เทรดดิ้งขายต่อซึ่งไม่มีใครทราบ



          อย่างไรก็ตาม ข้าวเก่า 10 ปี ในโครงการรับจำนำ ยังไม่จบแค่นี้ ต้องติดตามว่าข้าวจำนวน 15,000 ตัน จะถูกนำไปทำอะไร ระบายไปที่ไหน จำหน่ายให้ผู้บริโภคในหรือต่างประเทศ แต่กลุ่มนักธุรกิจในแวดวงค้าข้าว กำลังจับตามองว่าบริษัทวีเอทฯจะมีเงินจ่ายค่าประมูล 286 ล้านบาทได้หรือไม่ เพราะหากพิจารณางบการเงินของบริษัทแม่ที่มีรายได้เป็นพันล้านบาทอาจไม่มีปัญหาและมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้นก็ยากที่จะคาดการณ์



 



#ประมูลข้าว10ปี 



CR:ไทยพีบีเอสออนไลน์



 



 

ข่าวทั้งหมด

X