นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผย ผลการจับกุม นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากหลบหนีนานเกือบ 1 ปี โดยหลังพนักงานสอบสวนบินไปรับตัวสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าหน้าที่นำตัวส่งตัวให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินคดี สอบปากคำตามขั้นตอน ภายใน 48 ชั่วโมง
การจับกุมนายชนินทร์ เป็นความสำเร็จ ที่สามารถประสานความร่วมมือกับทางการดูไบเพื่อนำตัวนายชนินทร์ กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบภารกิจลับมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว เนื่องจากเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ของระบบเศรษฐกิจ และตลาดทุนไทย ซึ่งรัฐบาลไทย ให้ความสำคัญมาก ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปี66 เพื่อจะนำตัวกลับมาดำเนินคดีให้ได้ กระทั่งวันนี้นำตัวกลับมาได้แล้ว ใช้เวลากว่า 8 เดือน เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาตัวว่าหลบหนีไปที่ไหน อยู่ประเทศใดบ้าง มีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดอ่อน เป็นความร่วมมือหลายหน่วยงาน กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ กระทรวงการต่างประเทศ กลต. อัยการสูงสุด คดีนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญต่อตลาดทุนไทยที่ ก.ล.ต. จะนำไปปรับปรุงเรื่องการดำเนินการให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ของตลาดทุนไทย
บริษัท สตาร์ค ได้รับความสนใจในวงกว้าง บริษัทมีการทุจริตกลางปี 2566 นายชนินทร์ ได้หลบหนีไปในช่วงเวลานั้น เคยเดินทางไปยูเออี 2 รอบ เพื่อติดตามเรื่องนี้ ทราบดีว่ามีความยากลำบากเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งได้แจ้งกับรัฐบาลยูเออีว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และจากการคุยเบื้องต้น นายชนินทร์ ร้องขอความเป็นธรรม โดยกังวลเรื่องความปลอดภัย และการคุกคาม
ทางด้านพ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ คือการนำตัวผู้ต้องหาไปดำเนินการสอบสวนที่ดีเอสไอ ซึ่งจะแจ้งสิทธิต่างๆ ที่ผู้ต้องหาพึงได้รับตามกฎหมาย ก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือ และควบคุมตัวไว้ก่อน เพื่อส่งต่อให้กับอัยการในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) ซึ่งอัยการจะนำสำนวนและผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลในวันเดียวกัน ส่วนนายชนินท์ จะได้รับการประกันตัวหรือไม่นั้น การตัดสินเป็นอำนาจของศาล แต่การคัดค้านการประกันตัวก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เช่นกัน
ทางด้าน นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความของนายชนินทร์ เปิดเผยว่า การเดินทางกลับมาครั้งนี้ เป็นเพราะนายชนินทร์อยากจะกลับบ้านจึงประสานกลับมาสู้คดี ไม่ใช่การถูกจับกุม ส่วนตัวนายชนินทร์ไม่ได้กังวลอะไร ซึ่งก่อนที่นายชนินทร์จะหนีออกไปต่างประเทศ ทางครัวครอบของนายชนินทร์ เคยบอกกับตัวเองว่า นายชนินทร์โดนคุกคาม ทำให้อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ จึงหลบหนีไป
นอกจากนี้ยังทราบว่าก่อนหน้านี้ นายชนินทร์ ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม กับดีเอสไอและอัยการ ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมถึงเส้นทางการเงินต่างๆ แต่ทางดีเอสไอ และอัยการบอกกับตนเองว่า จะรับเรื่องไว้เฉย ๆ แต่ไม่รับพิจารณา เพราะตัวผู้ต้องหาไม่ได้มายื่นด้วยตัวเอง
ส่วนเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัว ยอมรับว่ายังไม่ได้เตรียม แต่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบทุกอย่าง หากศาลไม่ให้ประกันก็จะยอมรับ ซึ่งตเชื่อในความยุติธรรมของศาล แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ประกันหรือไม่ เพราะคนอื่นที่โดนคดีก็ไม่ได้ประกันเหมือนกัน
สำหรับคดีหุ้น STARK ผู้เสียหายทั้งสิ้น 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท DSI ได้ดำเนินการสอบปากคำผู้กล่าวโทษจำนวน 5 ราย สอบปากคำพยานบุคคลรวมจำนวน 157 ราย แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และออกหมายจับนายชนินทร์ที่หลบหนีไปต่างประเทศ
Cr:เพจDSIกรมสอบสวนคดีพิเศษ
#หุ้นSTARK
#ชนินทร์เย็นสุดใจ