นักวิทย์ออสเตรเลียพบ 'นอนกรน' เชื่อมโยงภาวะความดันโลหิตสูง

26 มิถุนายน 2567, 17:11น.


          สำนักข่าวซินหัว รายงาน ผลการวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สในรัฐเซาธ์ออสเตรเลียของออสเตรเลีย พบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรนและภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่นอนกรนเป็นประจำตอนกลางคืนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความดันโลหิตสูง และมีภาวะความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ (uncontrolled hypertension)



         ภาวะความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นเมื่อความดันในหลอดเลือดของบุคคลนั้นสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจ



           ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 15 ของผู้เข้าร่วม 12,287 คน นอนกรนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 ของช่วงเวลากลางคืน ตลอดระยะเวลาการติดตามผล 6 เดือน โดยผู้ที่มีอาการนอนกรนรุนแรงจะมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว 3.8 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว 4.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่มีอาการนอนกรน



          นอกจากนั้น การทำงาน เพื่อศึกษาครั้งนี้ ใช้หลายเทคโนโลยีเพื่อทำการติดตามที่บ้านตอนกลางคืนในระยะเวลานานเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรนและภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ในวัยกลางคน ซึ่งร้อยละ 88 เป็นผู้ชาย



          ก่อนหน้านี้ บาสเตียน เลชาต์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถระบุได้ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า การนอนกรนตอนกลางคืนเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการนอนกรนในฐานะปัจจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะในบริบทของการจัดการกับภาวะความดันโลหิตสูง



          องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกอายุระหว่าง 30-79 ปี มีภาวะความดันโลกหิตสูงจำนวนถึง 1.28 พันล้านคน และผู้ใหญ่ร้อยละ 46 ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงไม่ทราบว่าตนมีภาวะดังกล่าว



(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนรับประทานอาหารที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งออสเตรเลีย ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย วันที่ 17 พ.ค. 2024)



 

ข่าวทั้งหมด

X