ดีเดย์ 31 ก.ค.พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ-นายจ้างค้าน 'ขึ้นค่าจ้างตามอำเภอใจ'

28 มิถุนายน 2567, 15:50น.


          การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในวันนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 6/2567 ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งใช้เวลาหารือเพียง 1 ชั่วโมงเศษ   นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีวาระการรับรองรายงานการประชุมของครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ซึ่งฝ่ายนายจ้างไม่รับรองรายงานดังกล่าวในข้อที่ 4.3 เนื่องจากมีการระบุว่า เสนอพิจารณากรอบแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในการประชุมครั้งต่อไป โดยให้เลือกแนวทางที่ระบุไว้ในรายงานการประชุม จำนวน 4 แนวทาง



          โดยฝ่ายนายจ้างเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะควรจะต้องยึดตามสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่บอร์ดค่าจ้าง มีมติไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์



          ซึ่งสูตรค่าจ้างที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมมีการยกเลิกบางส่วนออก ส่งผลให้การพิจารณาขึ้นค่าจ้างสามารถทำได้ตามอำเภอใจ ฝ่ายนายจ้างคิดว่าไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลว่าการที่จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณที่มีมติไปแล้ว จะต้องมีการตั้งวาระใหม่ขึ้นมา แล้วค่อยส่งไปที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งทางเราก็ยินดี



         ส่วนความสำคัญของมาตรา 87 ที่ถูกตัดออก นายอรรถยุทธกล่าวว่า ในความสำคัญของมาตรา 87 ที่สามารถพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำให้บวกหรือลบได้ร้อยละ 1.5 ถ้ามากไปก็ลบได้ ร้อยละ 1.5 หรือสามารถเพิ่มได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยลบ มีแต่บวกเพิ่มจากสูตร ซึ่งนายจ้างก็ยินดี



          ทั้งนี้ มาตรา 87 เดิมเคยมีการกำหนดไว้ที่บวกลบร้อยละ 3 แต่ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการปรับแก้มาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น จึงเหลือบวกลบร้อยละ 1.5 แต่ตอนนี้เป็นการตัดออกทั้งหมดเมื่อถามถึงจุดยืนของฝ่ายนายจ้างในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้



          สำหรับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  นายอรรถยุทธกล่าวว่า การพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรพิจารณาดังนี้



1.พิจารณาขึ้นในรอบวันที่ 1 มกราคม 2568 ตามทำเนียมปฏิบัติ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นจากบอร์ดค่าจ้างก่อนว่าควรจะปรับหรือไม่ และ



2.หากมีความเห็นว่าควรจะปรับขึ้น ก็ต้องรู้ว่าควรปรับขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละจังหวัด หรือจะเป็นการปรับขึ้นแบบโซนนิ่งดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ในการจะปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณค่าตั้งขั้นต่ำ จะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาสูตรร่วมกันระหว่างฝ่ายข้าราชการ นายจ้างและลูกจ้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาสูตรมาแล้วมีการตัดมาตรา 87 ออก



          ด้านปลัดกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า การประชุมในครั้งนี้ไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหลังวันที่ 31 ก.ค.นี้ จะนำตัวเลขที่ทางจังหวัดส่งมา ไปประมวลภาพของแต่ละจังหวัดว่าแต่ละจังหวัดมีความต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นอย่างไร มีจังหวัดใดต้องการขึ้นบ้าง



          ส่วนเรื่องการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ เรากำหนดไทม์ไลน์ วันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อรอการพิจารณาของอนุจังหวัดส่งมาให้กับอนุชุดใหญ่ภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้



 



#ค่าแรงขั้นต่ำ



 

ข่าวทั้งหมด

X