กรุงเทพฯ เฝ้าระวังน้ำเหนือ พร่องน้ำเขื่อนเจ้าพระยารอ แม้น้ำทะเลหนุน สุโขทัย เตรียมแผนผันน้ำ

22 สิงหาคม 2567, 20:17น.


          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครเฝ้าระวัง นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ กรุงเทพมหานครได้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ



          พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำได้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์น้ำขึ้นลงอยู่เป็นระยะๆ ตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์



           ทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง  และยังได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและเข้าตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงในช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นสูง



           ส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่มีระดับคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรงเพื่อให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยได้เรียงแนวกระสอบทรายแล้วเสร็จ มีความสูงตั้งแต่ +2.40 ถึง + 2.70 ม.รทก.



           ก่อนหน้านี้  นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพฯ ขณะนี้ มีมวลน้ำจากทางเหนือที่ไหลลงมา จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น วันนี้ (22 ส.ค. 67) อยู่ที่ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คาดว่ามวลน้ำจากเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงกรุงเทพมหานคร



          โดยเขื่อนเจ้าพระยา หากมวลน้ำทางเหนือไหลบ่าลงมาเติม จะมีการเพิ่มการระบายน้ำ ดังนั้นผลกระทบจากน้ำหลากในพื้นที่ตอนล่าง คาดว่ามีน้อย แม้มีน้ำทะเลหนุนในช่วงนี้ถึงปลายเดือน ส.ค. 67 แต่ไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ



          หากเทียบปริมาณน้ำในปีนี้ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมาเพิ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ย 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ในปี 2565-2566 มีปริมาณน้ำมากกว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และต่อจากนี้พื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณฝนมากตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. จากนั้นฝนจะตกหนักในภาคกลาง และภาคใต้ ในเดือน ต.ค.



          ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบน ส่วนพื้นที่ตอนล่างก็พยายามระบายมวลน้ำ ซึ่งปีนี้มีการติดตามสถานการณ์น้ำ โดยการพร่องน้ำตามลำน้ำต่างๆ ก่อน โดยเฉพาะเขื่อนเจ้าพระยา ลดระดับการเก็บน้ำมากกว่า 1-2 เมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน



          จากการประเมินมวลน้ำที่ทำให้เกิดอุทกภัยอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมที่ไหลลงมาสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงไปกว่านี้



          ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านถือเป็นเรื่องที่ดีในการเก็บกักน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ทำให้มีต้นทุนน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง



#น้ำท่วมกรุงเทพ



#บริหารจัดการน้ำ

ข่าวทั้งหมด

X