ญี่ปุ่น-ไต้หวัน สอบเหตุวอล์คกี้ทอล์คกี้-เพจเจอร์ ระเบิด ฮังการี ยืนยันไม่ได้ผลิต

19 กันยายน 2567, 11:41น.


          การตรวจสอบเหตุวิทยุสื่อสารวอล์คกี้ ทอล์คกี้ ระเบิดซ้ำ เมื่อเวลา 17.00น. เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.67) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 รายและมีผู้บาดเจ็บกว่า 450 คน มีรายงานว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เพิ่งสั่งซื้อเมื่อ 5 เดือนก่อน มีตรายี่ห้อสินค้าว่า เป็นสินค้าจากบริษัทไอคอม(Icom)จากญี่ปุ่น



         ด้านบริษัทไอคอมของญี่ปุ่น ระบุทางเว็บไซต์ของบริษัทว่า อยู่ระหว่างสอบสวนรายงานเรื่องนี้และจะเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนทันทีที่ทราบข้อมูลใหม่ๆ



         ความคืบหน้าเหตุเพจเจอร์ รุ่น AP924 ระเบิดในเลบานอน เมื่อวันอังคาร(17 ก.ย.67)เวลา 15.45น. มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 2,800 คน ต่อมา  มีรายงานในช่วงแรกว่า เป็นเพจเจอร์ที่ผลิตโดยบริษัทโกลด์ อะพอลโลของไต้หวัน แต่นายซู ชิงกวง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท โกลด์ อะพอลโล ปฏิเสธว่าบริษัทไม่เคยส่งออกเพจเจอร์ไปที่เลบานอนและตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ส่งออกไปที่ตลาดสหรัฐฯ ยุโรปและออสเตรเลีย พร้อมชี้แจงว่า บริษัทได้ทำสัญญาเมื่อ 3 ปีก่อน อนุญาตให้บริษัทบีเอซี คอนซัลติง(BAC Consulting) ในกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี มีสิทธิ์ใช้ตรายี่ห้อของโกลด์ อะพอลโล ในการผลิตและขายเพจเจอร์ในยุโรป



         นายโซลตาน โคแวคส์ โฆษกรัฐบาลฮังการี โพสต์ข้อความทาง X ว่า เพจเจอร์ที่ระเบิดไม่ได้ผลิตขึ้นมาในฮังการี ถึงแม้จะมีรายงานเชื่อมโยงกับบริษัท บีเอซี คอนซัลติง ในกรุงบูดาเปสต์ แต่จากการตรวจสอบเรื่องนี้ ทางการฮังการีพบว่าบริษัทนี้เป็นเพียงบริษัทตัวกลางที่ประกอบธุรกิจการค้า ไม่มีการผลิตสินค้า หรือที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้า



          นายโคแวคส์ กล่าวว่า บริษัทนี้มีผู้จัดการเพียงหนึ่งคน จดทะเบียนประกอบธุรกิจตามที่อยู่ตามที่จดแจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่นและเพจเจอร์ตามที่เป็นข่าวระเบิดในเลบานอนไม่เคยนำเข้ามาใช้ในฮังการี ขณะเดียวกัน หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของฮังการีจะประสานความร่วมมือด้านการสอบสวนกับทุกหน่วยงาน หุ้นส่วน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของฮังการี



           ด้าน น.ส.คริสเตียนา บาร์โซนี- อาร์ซิเดียโคโน ซีอีโอของบริษัทบีเอซี คอนซัลติง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี นิวส์ของสหรัฐฯว่า บริษัทของเธอทำงานกับบริษัทโกลด์ อะพอลโลของไต้หวัน แต่ไม่ได้ผลิตเพจเจอร์ ระบุว่าบริษัทเธอเป็นเพียงตัวกลางที่ทำธุรกิจการค้า ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง และที่สื่อเข้าใจบริษัทของเธอผลิตเพจเจอร์ที่เกิดเหตุระเบิดในเลบานอนเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง



         ส่วนที่ไต้หวัน นายเวลลิงตัน กู้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวันปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ทางการไต้หวันทราบเรื่องก่อนเกิดเหตุเพจเจอร์ระเบิดในเลบานอนเมื่อวันอังคาร ยืนยันว่า ทางการไต้หวันไม่ทราบเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เพจเจอร์ที่ระบุในตัวเครื่องว่า ผลิตในไต้หวัน กับ เหตุโจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน นายกู้แสดงความเห็นเรื่องนี้หลังนักข่าวถามว่าไต้หวันได้รับแจ้งก่อนเหตุโจมตี หรือไม่ ซึ่งนายกู้ตอบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เรื่องนี้มาก่อน ขณะเดียวกัน หน่วยงานความมั่นคงของไต้หวันให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างมากและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติอยู่ระหว่างสอบสวน


         ด้านนายซุน ลีฟาง โฆษกกระทรวงกลาโหมของไต้หวันกล่าวว่าไต้หวันไม่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในลักษณะทำการยั่วยุทางทหารนอกภูมิภาคนี้ และไม่ขอแสดงความเห็นว่าใครเป็นผู้ผลิต หรือดัดแปลงเพจเจอร์ดังกล่าวเพื่อใช้กดชนวนระเบิดในเลบานอน ทำให้เกิดคำถามว่าใครเป็นผู้ผลิตเพจเจอร์และเพจเจอร์ดังกล่าวไปอยู่ในมือของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้อย่างไร


         เจ้าหน้าที่ความมั่นของเลบานอน ระบุว่าเพจเจอร์ที่เกิดระเบิดเป็นหนึ่งในเพจเจอร์ 5,000 เครื่องที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สั่งซื้อเมื่อ 5 เดือนก่อน เหตุโจมตีด้วยการกดชนวนระเบิดจากเพจเจอร์ ยิ่งจะเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ให้สูงขึ้นจากเดิมที่ตึงเครียดสูงต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่าง มอสซาด (Mossad) หน่วยข่าวกรองอิสราเอล กับกองกำลังป้องกันอิสราเอล(IDF)


        ขณะที่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มองว่า นายโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลยอมรับโดยปริยายในเรื่องเหตุโจมตีด้วยการจุดชนวนระเบิดเพจเจอร์เมื่อวันอังคารและเหตุวิทยุสื่อสาร วอล์คกี้ ทอล์คกี้ ที่ระเบิดในหลายท้องที่ทั่วเลบานอนเมื่อวานนี้ หลังอิสราเอลพูดในทำนองว่า ยุคใหม่แห่งการทำสงครามเริ่มต้นขึ้นแล้ว


 


#เลบานอน


#อุปกรณ์สื่อสารระเบิด


 


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X