การสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมเสวนาการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานในเมืองหลวงแห่งอนาคต ในหัวข้อ "MEA's Sustainable Actions for a Smarter, Sustainable Future" บน เวที Talk Stage นายวิลาศ ได้เป็นผู้ร่วมเสวนาฯ ในเวทีระดับนานาชาติ ร่วมกับ คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักกิจกรรมรณรงค์และสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยย้ำว่า พฤติกรรมของคน คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยโลกให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พลังงาน นอกเหนือจากการมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือทันสมัย ภายในงาน SX Sustainability 2024 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้ว่าการ MEA ย้ำว่า ในฐานะที่ MEA เป็นรัฐวิสาหกิจที่จำหน่ายดูแลระบบไฟฟ้า สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ MEA ได้ดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ MEA GO (Green Organization) สร้างความตระหนักให้แก่พนักงานในการใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ผ่านกิจกรรม Zero waste การนำขยะที่สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงาน (Waste to energy) การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) การจัดประชุมที่มีการคำนึงถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Green Meeting) การเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ใช้ในอาคารของ MEA เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายวิลาศ กล่าวว่า Smart City มีความหมาย ครอบคลุมถึงความสะดวก ความเท่าเทียม ตรวจสอบได้ เป็นต้น โดยย้ำว่า ถึงแม้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัยในการสร้างความยั่งยืน ซึ่งจัดอยู่ใน “Hard Side” สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการมี “Soft Side” ซึ่งหมายถึง การที่ประเทศหรือเมืองนั้น มีพลเมืองที่มีวินัย เช่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่ชี้ให้เห็นถึงประชาชนที่มีวินัยในการดูแลสิ่งแวดล้อม สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ Productivity หรือความสามารถในการผลิตก็เพิ่มขึ้นได้ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีโครงการตัวอย่างที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ภายใต้ MEA Energy Mind Award ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากร และเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ โดยการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ได้สร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย ในส่วนของผู้ประกอบการผ่านโครงการ MEA Energy Award มอบรางวัลให้กับอาคารในประเภทต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน” ซึ่งได้ดำเนินโครงการปีที่ 7 มีอาคาร ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของ MEA ไปแล้วทั้งสิ้น 313 แห่ง ช่วยให้เกิดผลประหยัด 46.33 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 180.93 ล้านบาทต่อปี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 26,589 tonCo2 ต่อปี
ในด้านระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า MEA คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้านสิ่งแวดล้อม จากการรื้อถอนอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพจำนวนมาก โดย MEA ได้ริเริ่มกระบวนการ upcycle ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า (Insulators) ที่หมดอายุการใช้งาน ให้นำไปใช้งานในหลายรูปแบบ อาทิ การนำไปบดหยาบเพื่อทำวัสดุกันลื่นบนถนน(Anti skid road ceramic particles) สำหรับลูกถ้วยที่บดละเอียด สามารถนำไปผลิตเป็นแผ่นรองดูดซึมน้ำประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้นำมาทดสอบนำร่องการใช้งานภายในองค์กร ก่อนขยายพื้นที่การใช้งานไปยังเครือข่ายพันธมิตรและชุมชนอื่น ๆ
ส่วนเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถอนจากโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ได้มาปักเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และชายฝั่งย่านบางขุนเทียน รวมระยะทางกว่า 2,500 เมตร พร้อมสนับสนุนการดำเนินการปลูกป่าชายเลนและดูแลบำรุงรักษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน จนสัมฤทธิ์ผลเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลน หลังแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งกว่า 380 ไร่
ด้านระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า MEA เป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานแรกที่นำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ และได้นำเทคโนโลยีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในองค์กรกว่า 10 ปี มีการต่อยอดสร้างนวัตกรรม PLUG ME EV ระบบอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับพื้นที่อาคารสำนักงาน หรืออาคารชุดที่ต้องการรองรับผู้ใช้งานรถ EV จำนวนมาก ช่วยลดต้นทุนกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า AC ทั่วไป
รวมถึงการจัดทำตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย และเที่ยงตรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หรือ Charge Sure by MEA รวมถึงดำเนินโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน MEA รับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 13,735 ราย คิดเป็นกำลังผลิตกว่า 238 เมกะวัตต์ และมีการติดตั้งระบบ Solar Cell ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมเป็นจำนวนกว่า 84 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ ช่วยส่งผลลดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 190,000 tonCo2/ปี
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการที่ MEA กำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ กำหนดเป้าหมาย Net Zero Emission การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 ดำเนินการขับเคลื่อนจากภายในองค์กรขยายไปสู่ภายนอก และเดินหน้าผลักดันให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามนโยบายของรัฐบาลในอนาคตต่อไป
สำหรับ การจัดงาน SX Sustainability 2024 ครั้งนี้ จะมีไปถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567
คลิป: https://www.facebook.com/METROPOLITAN.ELECTRICITY.AUTHORITY/videos/1259766671586483
#SustainabilityExpo2024
#MEAสู่เส้นทางการเป็นองค์กรพลังงานที่ยั่งยืน
#CarbonNeutrality
#MEA
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร