บุกทลายสถานที่ผลิตยาสัตว์เถื่อน และสารเร่งเนื้อแดง รายใหญ่ จ.นครปฐม ของกลาง กว่า 100 ล้าน

วันนี้, 07:41น.


         กรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 กรมปศุสัตว์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเว็บไซต์ พบว่าบริษัทซึ่งประกอบกิจการขายอาหารสัตว์ และผลิตอาหารสัตว์ ในจังหวัดนครปฐม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีเลขทะเบียนจำนวน 233 รายการ และอาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดง จำนวน 153 กระสอบ น้ำหนักรวม 2,954 กิโลกรัม ซึ่งเป็นยาสัตว์เถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครื่องมือผลิตยาที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 9 รายการ รวมมูลค่าของกลางประมาณทั้งสิ้น 100,434,840 บาท ซึ่งเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 


         นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ค้นสถานที่ดังกล่าว พบว่าเป็นสถานที่ไม่ได้ขออนุญาตเป็นสถานที่ผลิตอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงได้ทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมด และจับกุมผู้ต้องหา นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป


        การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิด


-พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 ผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ตามมาตรา 6 (1) ต้องได้รับใบอนุญาต โทษตามมาตรา 75 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


-มาตรา 56 (4) ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมีโทษตาม มาตรา 86 วรรคแรก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


-ความผิด พ.ร.บ ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โทษตาม มาตรา 101 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 72 (4) ผลิต ขาย หรือยาหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษตามมาตรา 122 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




         การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ ไม่มีเลขทะเบียน เป็นอันตรายต่อสัตว์ ส่วนอาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดง เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ลดปริมาณไขมันในเนื้อสัตว์ ตลอดจนเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ และทำให้เนื้อสัตว์สีแดงน่าบริโภค หากผู้บริโภคได้รับสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ เมื่อสะสมมากขึ้นในร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนปวดศีรษะ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตลอดจนหญิงมีครรภ์ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง


 


#ทลายสถานที่ผลิตยาสัตว์เถื่อน


#กรมปศุสัตว์


Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 


 


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X