อย. เข้ม! พร้อมยกระดับมาตรการความปลอดภัย การนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ

29 ตุลาคม 2567, 12:31น.


          อย.ยกระดับมาตรฐานเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้อย่างเข้มงวด เพิ่มการตรวจสอบทั้งชนิดสารกำจัดศัตรูพืชและจำนวนตัวอย่างกว่า 10 เท่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค          นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะถูกกักไม่ให้มีการนำเข้าจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด



          เมื่อผักและผลไม้ได้รับการอนุญาตนำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศแล้ว อย. มีมาตรการในการกำกับดูแลต่อเนื่อง โดยเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่าย โรงคัดและบรรจุผักผลไม้ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปีรวมทั้งร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในการกำกับดูแลเฝ้าระวังผักและผลไม้ที่อาจมีสารกำจัดศัตรูพืชการเกษตรตกค้างที่สถานที่จำหน่ายและสถานที่ผลิตโรงคัดและบรรจุผักผลไม้ทั่วประเทศ



          จากผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ในปี 2567 มีการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการที่ด่านอาหารและยา จำนวน 506 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 329 ตัวอย่าง ตกมาตรฐาน 177 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 35 เมื่อพบว่าผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จะดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกรายฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มาตรา 25 (3) ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดการกับสินค้าด้วยการทำลายหรือส่งคืนประเทศต้นทาง นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นอีกกว่า 10,000 ตัวอย่าง



          ในปีนี้ อย. จะยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าผักและผลไม้ในปี 2568 โดยการเพิ่มชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจวิเคราะห์ อย่างกรณีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเก็บข้อมูลการตรวจสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงรายการสารกำจัดศัตรูที่จะตรวจวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักและผลไม้ และเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจากปีงบประมาณ 2567 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ส่งตรวจวิเคราะห์โดยประมาณ 500 ตัวอย่างจะเพิ่มเป็น 5,000 ตัวอย่าง หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า อย่างไรก็ตาม ควรล้างผักและผลไม้ก่อนการบริโภคทุกครั้ง



 



          ก่อนหน้านี้ อย. ชี้แจงสารตกค้างที่ตรวจพบในองุ่นไชน์มัสแคทว่ามีเพียงตัวอย่างเดียว ที่พบคลอร์ไพริฟอส ซึ่งกฎหมายห้ามใช้ ส่วนสารตกค้างอื่นๆ มีทั้งกลุ่มที่กฏหมายระบุค่าความปลอดภัย ซึ่งผลการตรวจไม่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนด และกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวังเนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย ขอผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้อย่างถูกวิธี เพื่อลดสารตกค้าง



          นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวที่ระบุพบมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 50 รายการใน 24 ตัวอย่าง โดยข้อเท็จจริงแล้วผลการตรวจพบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืช 36 รายการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีความปลอดภัย ส่วนสารกำจัดศัตรูพืช อีก 14 รายการ เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งผลการตรวจพบเกินเพียงเล็กน้อย จึงสามารถรับประทานองุ่นไชน์มัสแคทได้ แต่ควรล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรณีล้างด้วยน้ำเปล่า ให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหล ถูลูกองุ่นไปมาเบาๆ ล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 30 วินาที  กรณีล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู/เบคกิ้งโซดา) ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำสะอาด 4  ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด กรณีล้างด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด





Cr:FDA Thai



#องุ่นไซน์มัสแคท



#คณะกรรมการอาหารและยา

ข่าวทั้งหมด

X