การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เดินหน้าดำเนินงาน "น้ำดื่มสะอาด บริการประชาชน" ผู้ว่าฯคนใหม่เปิดแผนทิศทางการดำเนินงานปี 2568 ย้ำลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย ลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน ยืนยัน ยังไม่มีการขึ้นราคาน้ำประปา
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า กปภ. มีแผนลงทุนวงเงินรวม 11,611 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบจำหน่ายน้ำ โครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบประปา โครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)รวมถึงโครงการวางท่อขยายเขตให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนกว่า 621 โครงการ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงน้ำประปาสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง ภายใต้นโยบาย PWA FIRST โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำ 235,000 ครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำจำหน่าย 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และควบคุมน้ำสูญเสียให้ไม่เกิน ร้อยละ 26.30
การจัดเตรียมแนวทางป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เช่น การจัดการการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในฤดูแล้ง การควบคุมคุณภาพน้ำ รวมถึงแผนรับมือการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศในฤดูแล้งและฤดูฝน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการน้ำดื่มสะอาด Mini Station โครงการน้ำประปาดื่มได้ และโครงการตู้กดน้ำดื่มสะอาด โดยโครงการน้ำดื่มสะอาด Mini Station ใช้ระบบ RO Reverse Osmosis และใช้ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านกระแสไฟ ในปี 2567 ได้จัดทำโครงการนำร่อง ผลิตน้ำ 2,000 ลิตร ต่อชั่วโมง ล่าสุดได้ทำไปทั้งสิ้น 10 โครงการ ใช้เงินราว 30 ล้านบาท ยืนยันว่า แม้จะไม่มีการปรับราคาค่าน้ำประปามา 15 ปี ตอนนี้ก็ยังคงไม่มีการปรับ
ส่วนโครงการน้ำประปาดื่มได้ ที่ประชาชนสามารถเปิดดื่มจากก๊อกน้ำ ด้วยมีหลายปัจจัยที่ต้องควบคุมและลงทุนข้างสูง ปัจจุบันทำงานร่วมกับกรมอนามัยเพื่อตรวจสอบ และได้ให้รับการรับรองไปแล้ว 264 พื้นที่ โดยจะมีการตรวจสอบ ประเมินผล และตรวจสอบท่อที่หมดอายุการใช้งาน และท่อที่ชำรุด
ปัจจุบัน กปภ. มีท่อส่งน้ำรวมระยะทาง 150,000 กม. ทั่วประเทศ และมีท่อที่หมดและจะหมดอายุ 30,000 กม.ในปีหนึ่งๆ กปภ. มีความสามารถในการเปลี่ยนท่อได้ 600 กม. ในการตรวจสอบ จึงต้องดูความขุ่นของท่อ และทำให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีงบประมาณอุดหนุน ปีละ 3,000 ล้านต่อปี
นายจักรพงศ์ กล่าวว่า การสูญเสียน้ำเกิดจากปัญหาเชิงกายภาพเป็นส่วนใหญ่ (ราว 95%) คือ ท่อแตก ท่อรั่ว การปรับพื้นที่ย่อย ส่วน 5% คือ สูญเสียจากเชิงพาณิชย์ เราจึงต้องมีการสำรวจน้ำสูญเสียเชิงรุก ต้องวางแผนเป็นระบบ และทำตอนกลางคืน โดยปกติ ท่อประปามีอายุใช้งานหมดลงไปเรื่อยๆเราจึงต้องวางแผนหรือมีการก่อสร้างในการวางท่อ
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานในด้านการหารายได้เพิ่มในระยะยาว ทั้งในส่วนการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพิ่มรายได้ที่หลากหลาย จะมีการร่วมลงทุน PPP หรือข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างคู่สัญญาทั้งภาครัฐและเอกชนในการแบ่งปันความเสี่ยง และผลตอบแทนในการส่งมอบบริการสาธารณะ กปภ. คาดหวังว่าจะมีปรับกฎหมายเพื่อความคล่องตัวและกำลังศึกษาว่าจะเข้าไปมีส่วนในธุรกิจน้ำดื่มได้แค่ไหน เพราะธุรกิจน้ำดื่มมีมูลค่าเป็นแสนล้าน และเกินครึ่งในการผลิตใช้วัตถุดิบมาจากการประปาส่วนภูมิภาค เป็นความท้าทายที่ผู้บริหารต้องทำงานกับพันธมิตรต่างๆ เราจะพึ่งพาเงินอุดหนุนส่วนเดียวไม่ได้ มีความเป็นไปได้ให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ก่อน และปลอดดอกเบี้ย 3-5 ปี

โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กปภ. ที่สำคัญ เช่น มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เช่น แม่สาย เชียงราย เชียงใหม่ ใน 6 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ตรวจสอบระบบประปา ตรวจดูความเสียหาย จัดสรรงบเร่งด่วนเพื่อแก้ไขทันที ให้บริการน้ำดื่มบรรจุขวดให้ประชาชน ช่วยเหลือน้ำประปาฟรี ยกเว้นเก็บค่าน้ำประปา ผ่อนชำระค่าน้ำ รวมถึงโครงการ CSR เช่น โครงการหลอมรวมใจ ดูแลน้ำสะอาดให้นักเรียนในโรงเรียน โดยดูต้นน้ำที่เข้าโรงเรียน ก่อนจะดื่ม ตรวจคุณภาพ ให้ความรู้นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียน รวมถึงโครงการฝึกอาชีพประปาให้ประชาชน โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากร ให้ปีหนึ่งๆ สามารถทำหลายๆ โครงการได้
#กปภ
#แผนทำงาน2568