สำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 ว่า ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี (Science and Technology Daily) รายงานว่า ยานอวกาศเสินโจว-18 (Shenzhou-18) ได้เดินทางกลับโลกพร้อมกับตัวอย่างการทดลองจากสถานีอวกาศหนัก 34.6 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ วัสดุโลหะผสม และวัสดุนาโน ซึ่งจัดหาได้ยากบนพื้นโลก ตัวอย่างที่นำกลับมาเหล่านี้จะช่วยยกระดับการพัฒนาเลเซอร์ไฟเบอร์จากอวกาศ เอื้อต่อการสร้างวัสดุจากนอกโลก และสำรวจโอกาสที่สิ่งมีชีวิตบนโลกจะแพร่กระจายไปทั่วจักรวาล
แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศเสินโจว-18 ซึ่งบรรทุกนักบินอวกาศของจีน 3 คน ได้เดินทางถึงพื้นโลกในช่วงเช้ามืดของวันจันทร์ (4 พ.ย.67) หลังจากปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศระยะ 6 เดือนเสร็จสิ้น
ตัวอย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่นำกลับมาโดยยานอวกาศลำดังกล่าวมีทั้งหมด 55 ประเภท ครอบคลุมโครงการวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ 28 โครงการ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพในอวกาศ วิทยาศาสตร์วัสดุในอวกาศ และวิทยาศาสตร์การเผาไหม้ภายใต้สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง
ตัวอย่างด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพประกอบด้วยอาร์เคีย (archaea) ที่สร้างก๊าซมีเทน จุลินทรีย์ที่ต้านรังสี และจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในหิน ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาความเป็นไปได้ของการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมนอกโลก และประเมินความสามารถของจุลินทรีย์ในการปรับตัวต่อความท้าทายต่างๆ ในนอกโลก
อีกส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่นำกลับมาคือโลหะผสมที่ทนต่ออุณหภูมิสูง สายใยแก้วนำแสง และสารเคลือบแก้วนำแสง โดยวัสดุนวัตกรรมเหล่านี้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการผลิตสิ่งต่างๆ เช่น ใบพัดสำหรับการบินในอวกาศรุ่นต่อไป เลเซอร์ไฟเบอร์ที่เหมาะกับการใช้งานในอวกาศ และการซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์อย่างแม่นยำ
นอกจากนั้น ยานอวกาศยังนำอนุภาคนาโนที่ได้จากการเผาไหม้ก๊าซมีเทนกลับมาด้วย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์วัสดุระดับอนุภาคที่สำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมนอกโลกในอนาคต
#ยานเสินโจว18
Cr.ขอบคุณข้อมูล- แฟ้มภาพ ซินหัว : แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-18 ซึ่งบรรทุกนักบินอวกาศจีนเย่กวงฟู่ หลี่ชง และหลี่กว่างซู ลงจอดบนพื้นโลกที่จุดลงจอดตงเฟิงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วันที่ 4 พ.ย. 2024