ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย กรณีเขากระโดง นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า ไม่เคยมีความขัดแย้ง ส่วนกรณีที่เลขาธิการกฤษฎีกา แนะนำให้กรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พูดคุยกันเพื่อเจรจาหาข้อยุติในเรื่องนี้ นายอนุทิน ระบุว่า มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา และตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ส่วนที่บอกว่าคณะกรรมการตามมาตรา 61 ไม่มี การรถไฟฯ เพราะต่างคนต่างเป็นคู่กรณี แต่เขามีกรรมการแยกต่างหากแล้วค่อยไปตั้งกรรมการร่วมกัน ฉะนั้น ขออย่านำเรื่องนี้มาโยงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะเรื่องพวกนี้จบในกรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและสั่งการกรมที่ดินให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบทุกอย่าง ไม่มีการเอื้อหรืออำนวยความสะดวกให้กับใคร ส่วนจะจบอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้นไม่ต้องมารายงานรัฐมนตรี เพราะหากไม่เป็นไปตามกฎหมายก็ต้องมีคนร้องคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหากการรถไฟ ยังไม่พอใจก็ไปฟ้องศาลต่อซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว
นายอนุทิน ยังมองว่า หลายเรื่องที่มีการนำเสนอข่าวออกไปผิดหมดเลย พร้อมยกตัวอย่างการลาออกของอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีการอ้างว่าถูกแรงกดดัน จึงลาออกเพราะไม่อยากเข้าคุก ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง เนื่องจากต้องการไปดูแลภรรยาที่ป่วย และเมื่อเขามีความจำเป็นก็ต้องเคารพการตัดสินใจ
ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จะเป็นการไปหาข้อมูลเพื่อเตรียมล้มรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลหากดูสถิติจะล้มล้มกันเองในรัฐบาล ไม่เคยล้มข้างนอก เพราะฉะนั้นคนในรัฐบาลต้องทำลายสถิติ ต้องรักต้องสามัคคีทำงานเพื่อ ชาติและประชาชน มันก็จะไม่มีอะไรล้มได้ เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็เป็นเป้าหมาย เราอยากจะทำงานให้สืบทอดนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จ อยู่ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่เป้าหมายคือต้องอยู่ทำงานให้เป็นรูปธรรม และสำเร็จ พร้อมขอว่าอย่ายุ เพราะมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะมันเป็นเรื่องของการทำงานอย่างไรก็ไม่มีปัญหา หลักคือต้องทำไปตามกฎหมาย และเพื่อประชาชน กับประเทศชาติ ไม่ผิดระเบียบจารีต วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งทุกคนก็ยึดถืออยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟท.ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ และตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เพื่อคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนตามมาตราที่ 61 มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้ หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว การรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้เบื้องต้น โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าว ในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้
#ที่ทับซ้อน
#เขากระโดง
#การรถไฟแห่งประเทศไทย