สำนักงานนายกรัฐมนตรีเยอรมนี รายงานว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เพื่อขอให้เข้าร่วมการเจรจากับยูเครน แต่ผู้นำรัสเซียย้ำข้อเรียกร้องเดิม คือข้อตกลงสันติภาพใดๆ ควรยอมรับการผนวกดินแดนของรัสเซียและข้อเรียกร้องด้านความมั่นคง รวมถึงการที่ยูเครนจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
ความขัดแย้งในยูเครนจะครบ 1,000 วันในวันอังคารหน้า (19 พ.ย.67) ซึ่งในวันอาทิตย์นี้ (17 พ.ย.) กลุ่มผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียที่ลี้ภัย รวมถึงนางยูเลีย ภรรยาม่ายของนายอเล็กเซย์ นาวัลนี จะเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านสงครามที่กรุงเบอร์ลิน
นายสเตฟเฟน เฮเบสไตรต์ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารและยุติการรุกรานเต็มรูปแบบที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อบรรลุสันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นของเยอรมนีที่จะสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังประณามการที่รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนของยูเครน และเตือนว่าการส่งทหารเกาหลีเหนือไปรัสเซียเพื่อต่อสู้ในสงครามจะถือเป็นการยกระดับสถานการณ์อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีเยอรมนีว่าละเมิดต่อความพยายามโดดเดี่ยวรัสเซีย โดยเรียกว่าเป็น "กล่องแพนโดรา" ที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่รัสเซียต้องการมานานแล้ว
ด้านทำเนียบเครมลิน เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนีเป็นฝ่ายเริ่มการโทรศัพท์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา โดยประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าวิกฤตในปัจจุบันเกิดจากนโยบายก้าวร้าวของนาโตที่มุ่งสร้างฐานที่มั่นต่อต้านรัสเซียในดินแดนยูเครน ในขณะที่เพิกเฉยต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคง และสิทธิของผู้อยู่อาศัยที่พูดภาษารัสเซีย ยืนยันว่า รัสเซียยังคงเปิดกว้างในการกลับมาเจรจาสันติภาพอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่ามีความเสื่อมถอยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเยอรมนีและรัสเซีย และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมีการพูดคุยกันในโอกาสต่อไป
...
#เยอรมนี
#รัสเซีย
#ยูเครน