เอกชน คาด 'ทรัมป์' ใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้ากับทุกประเทศ กลางปีหน้า เสนอ รบ.รับมือเจรจา

05 ธันวาคม 2567, 09:05น.


           นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึง เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศจะใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเป็นนโยบายทางการค้า ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% ส่วนเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้เพียง 4.0-4.5% ขณะที่อาจกระทบการเติบโตของประเทศในอาเซียนได้มากทั้งจากการส่งออกไปจีนที่จะลดลง การส่งออกโดยภาพรวมที่จะลดลงเนื่องจากถูกทดแทนด้วยสินค้าจีน และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว



         คาดว่า มาตรการทางด้านภาษีจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 เป็นต้นไป นโยบาย Trump 2.0 จะไม่จำกัดเฉพาะสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่จะเป็นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากทุกประเทศ โดยอาจจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และจากประเทศอื่นๆ เป็น 10-20% รวมถึงจะใช้การเก็บภาษีเป็นนโยบายในการต่อรองกับคู่ค้า เช่น เม็กซิโก แคนาดา และกลุ่ม BRICS ซึ่งการขึ้นภาษีกับจีนอาจเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกับสินค้าที่สหรัฐฯ เคยเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในช่วง Trump 1.0



        ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า



          ขณะที่ปี 2568 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา เช่น การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น  อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ



          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ของประเทศไทยในปีนี้ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกันยายน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.5% ของ GDP ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน เบื้องต้น พบว่า หากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว น่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.03 –0.06% ของ GDP โดยพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงย่านการค้าสำคัญของ จ.สงขลา ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายของน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ น่าจะมีความเสียหายราว 80,000 – 85,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของ GDP



 



#มาตรการทางภาษี



Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน-กกร.



 

ข่าวทั้งหมด

X