สธ.ประชุม ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ PM 2.5 ปี 68

06 ธันวาคม 2567, 17:23น.


          นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568 ร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักสุขภาพดิจิทัล กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานเขตสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตามที่ ครม.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้กำหนด 4 มาตรการสำคัญ คือ



1.สร้างความรอบรู้การลดมลพิษและการดูแลสุขภาพป้องกันตนเอง



2.ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยยกระดับการเฝ้าระวังสื่อสารแจ้งเตือนความเสี่ยงอย่างรวดเร็วด้วยดิจิทัล หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานให้รีบแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 37.6 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แจ้งเตือนวันละ 1 รอบ, สีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป แจ้งเตือนวันละ 2 รอบ แต่หากเกิน 150 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ให้แจ้งเตือนวันละ 3 รอบ หากจำเป็นให้เสนอมาตรการ Work From Home หรือลดกิจกรรมกลางแจ้งต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด นอกจากนี้ ให้เตรียมห้องปลอดฝุ่นเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางไม่น้อยกว่า 5 พันห้องในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 4, 8 และ 13 เพิ่มจากปี 2567 ที่มี 4,457 ห้อง รวมถึงแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น มุ้งสู้ฝุ่น และหน้ากาก โดยขณะนี้มีหน้ากากอนามัยคงคลังทั่วประเทศ 7,380,000 ชิ้น และหน้ากาก N95 รวม 603,000 ชิ้น



3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงในชุมชนขยายเครือข่ายคลินิกมลพิษ คลินิกมลพิษออนไลน์ และมีระบบนัดหมายผ่านไลน์หมอพร้อม ซึ่งอาการสงสัยจากฝุ่น PM 2.5 ที่จะนัดหมายเข้าคลินิกมลพิษ คือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะตลอดเวลา หายใจหอบ หายใจเสียงดังหวีด มีผื่นผิวหนัง ระคายเคืองตา ตาแดง เจ็บหน้าอก และเหนื่อยมากต้องนั่งพักหรือจนทำงานไม่ได้ โดยมีการนำร่องระบบแล้วใน 4 เขตสุขภาพ 25 จังหวัด ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 และ 8 และพร้อมขยายทั่วประเทศตามสถานการณ์



4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.จะเข้าสู่ระยะเตรียมความพร้อม มีการยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น และเมื่อเกิน 75.1 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 2 วัน จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัด และหากเปิดระดับจังหวัด 2 จังหวัดขึ้นไป จะเปิด PHEOC ระดับเขตสุขภาพ



            ที่ประชุมมีข้อสั่งการ 7 ข้อ คือ



1.ให้ผู้ตรวจราชการฯ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและดำเนินการตาม 4 มาตรการ



2.ยกระดับการเฝ้าระวัง สื่อสาร สร้างความรอบรู้



3.ส่งเสริมองค์กรลดมลพิษในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ



4.ป้องกันผลกระทบทางสุขภาพกลุ่มเปราะบาง



5.ขยายและยกระดับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5



6.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยกระดับกาารปฏิบัติการหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น



7.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่และการจัดการเหตุรำคาญและการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญจากฝุ่น



          นอกจากนี้ ยังมอบหมายกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคจากการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ผ่านระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 29 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยรวม 6,400,000 ราย เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากที่สุด 2,700,000 ราย ตามด้วยกลุ่มโรคตาอักเสบ 2,100,000 ราย และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 1,300,000 ราย



...



#PM2.5



#มลพิษทางอากาศ



#กระทรวงสาธารณสุข



ภาพจาก Shutterstock

ข่าวทั้งหมด

X