จากกรณีนักร้องสาว "ผิง ชญาดา" เสียชีวิต เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.2567) โดยเจ้าตัวเคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อเดือน พ.ย. ว่า มีอาการอ่อนแรงหลังการนวดบิดคอ
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ต้องมีหลักการหรือองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย
สำหรับการนวดไทย แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือนวดเพื่อสุขภาพ และการนวดเพื่อการรักษา ประกอบด้วย
1.หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด เป็นการนวด คอ บ่า แขน ขา สะบักและหลัง วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
2.หลักสูตรการนวดเพื่อการรักษา เป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ นิ้วล๊อค หัวไหล่ติด เข่าเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต
ส่วนผู้ให้บริการด้านการนวดมี 3 ประเภท คือ ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ (หมอนวด) เรียน 150 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ พ.ร.บ.ปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และสปา, ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน, แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ จากสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิกทั้งภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ ข้อห้ามของผู้บริการ ได้แก่ ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง, ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา, บริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน, ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี และโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
ส่วนข้อควรระวัง ได้แก่ สตรีมีครรภ์, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง, ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก, ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง และผู้ที่เพิ่งกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย
หากท่านใดมีข้อสงสัย หรือสนใจข้อมูลด้านการนวดไทย สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ หรือFACEBOOK , Line@ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือโทร 02 149 5678 ได้ในเวลาราชการ
#นวดแผนไทย