สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ประกาศฉบับที่ 22/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
การคาดการณ์สภาพอากาศ คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังกำลังค่อนข้างแรง จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สทนช.ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 12–16 ธันวาคม 2567
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมือง ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน
-จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร ละแม สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และพะโต๊ะ)
-จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาเดิม กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เวียงสระ พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก เกาะพะงัน และเกาะสมุย)
-จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พระพรหม ถ้ำพรรณรา ช้างกลาง จุฬาภรณ์ ขนอม สิชล นบพิตำ พิปูน ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา และชะอวด)
-จังหวัดตรัง (อำเภอรัษฎา และปะเหลียน)
-จังหวัดพัทลุง (อำเภอศรีนครินทร์ ป่าบอน และกงหรา)
-จังหวัดสงขลา (อำเภอควนเนียง จะนะ นาทวี สะเดา และสะบ้าย้อย)
-จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี ไม้แก่น กะพ้อ ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง ปะนาเระ หนองจิก และมายอ)
-จังหวัดยะลา (อำเภอเมืองยะลา กรงปินัง ธารโต บันนังสตา ยะหา และรามัน)
-จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส บาเจาะ ศรีสาคร เจาะไอร้อง ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และตากใบ)
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ปัจจุบันมีระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
การเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์#เตือนใต้ระวังน้ำท่วม
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ