กลุ่มนิฮอน ฮิดังเคียว (Nihon Hidankyo) ซึ่งรณรงค์ช่วยเหลือผู้เสียหายจากระเบิดปรมาณูในญี่ปุ่น รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในงานซึ่งมีขึ้นที่กรุงออสโล โดยกล่าวเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งกลับมาเป็นภัยคุกคามอีกครั้งในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ
นายเทรุมิ ทานากะ อายุ 92 ปี ประธานร่วมของนิฮง ฮิดังเคียว กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ เขากล่าวว่า รู้สึกเสียใจและไม่พอใจอย่างยิ่งที่มีการละเมิดข้อห้ามครอบครองและใช้นิวเคลียร์
การที่สหรัฐฯทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ โจมตี 2 เมืองของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 2488 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 214,000 ราย นำไปสู่การยอมแพ้ของญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
กลุ่มนิฮอน ฮิดังเคียว ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 แต่มีผู้สืบทอดลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่ายังมีฮิบาคุชะ หรือผู้เสียหายจากนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 106,800 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 85 ปี
ในเวลาเดียวกัน มี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และ อิสราเอล คาดว่ามีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันประมาณ 12,000 หัวรบ โดยมี 4,000 หัวรบที่ถูกนำไปใช้งานจริงและพร้อมที่จะใช้โจมตีได้ทันที ซึ่งในปี 2560 รัฐบาล 122 ประเทศร่วมการเจรจาและนำสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) มาใช้ แต่ปรากฏว่าประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์เหล่านี้ไม่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญา
นายเจอร์เกน วัตเน ฟรีดเนส ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ แสดงความกังวลที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคนิวเคลียร์ครั้งใหม่ และเตือนว่าสงครามนิวเคลียร์อาจทำลายอารยธรรมของเรา เนื่องจากระเบิดปรมาณูในวันนี้มีอานุภาพในการทำลายล้างสูงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด และหากเกิดสงครามปรมาณูขึ้นก็อาจเป็นการทำลายล้างมนุษยชาติ เพราะอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันมีพลังทำลายล้างที่รุนแรงยิ่งกว่าระเบิด 2 ลูกที่ใช้โจมตีญี่ปุ่นในปี 2488 สามารถฆ่าคนได้นับล้านในพริบตาเดียว ทำร้ายคนได้มากกว่าเดิม และทำลายสภาพอากาศอย่างรุนแรง
รางวัลโนเบลสาขาอื่นๆ ในปีนี้ ทั้งการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และเศรษฐศาสตร์ จะมอบในพิธีแยกต่างหากที่สตอกโฮล์ม
...
#ระเบิดปรมาณู
#อาวุธนิวเคลียร์
#โนเบลสันติภาพ
#ญี่ปุ่น