อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน 2567 เนื่องจากราคารถยนต์มือสอง ห้องพักในโรงแรม และร้านขายของชำมีราคาสูงขึ้น
สำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากปีก่อน (2566) และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขรายปีที่ร้อยละ 2.6 ในเดือนตุลาคม หากไม่นับรวมต้นทุนอาหารและพลังงานที่ผันผวนแล้ว ราคาพื้นฐาน (Core CPI) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เท่ากับเดือนก่อนหน้า
เมื่อวัดเป็นรายเดือน ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน
นอกจากนี้ ดัชนีราคาพื้นฐานยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
รายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการรายงานในครั้งนี้ เป็นข้อมูลสำคัญรายการสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดจะนำมาประกอบการพิจารณาก่อนจะประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แนะนำว่า หากเศรษฐกิจโดยรวมมีความแข็งแกร่ง เฟดก็สามารถลดอัตราดอกเบี้ยหลักได้อย่างช้าๆ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้บรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ แต่ก็มีความคืบหน้าไปได้มาก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดผสมผสาน วันพุธ(11ธ.ค.67) หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดันแนสแดค ทะลุ 20,000 จุดเป็นครั้งแรก หลังรายงานเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มความคาดหมายว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีกรอบ
-ดาวโจนส์ ลดลง 99.27 จุด (0.22%) ปิดที่ 44,148.56 จุด
-เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 49.28 จุด (0.82%) ปิดที่ 6,084.19 จุด
-แนสแดค เพิ่มขึ้น 347.65 จุด (1.77%) ปิดที่ 20,034.89 จุด
ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนคาดหมายว่ามีโอกาสถึง 96% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในสัปดาห์หน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 86% ในช่วงก่อนหน้าเผยแพร่ข้อมูล
ส่วนราคาทองคำ ปิดตลาดวันพุธ(11ธ.ค.67) ขยับขึ้น หลังข้อมูลเงินเฟ้อเป็นไปตามความคาดหมาย และเพิ่มความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า
-ราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนก.พ.68 เพิ่มขึ้น 38.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 2756.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
#สหรัฐ
#เงินเฟ้อ