ทบทวนแนวทางดูแล! สธ. อบรมบุคลากร ฝึกปฏิบัติรับมือผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติด

13 ธันวาคม 2567, 12:00น.


       การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยรุนแรง สำหรับพยาบาล พนักงานช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและบุคลากรทางการแพทย์



        กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จากข้อมูลระหว่าง 2560-2567



-มีกรณีเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลจำนวน 99 เหตุการณ์



-บุคลากรในโรงพยาบาลจิตเวชถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกาย 312 ราย ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน และก่อความไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลต่อความปลอดภัยของสถานพยาบาล และขวัญกำลังใจของบุคลากรอีกด้วย



        กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการสนับสนุนให้บุคลากรทบทวนแนวทางปฏิบัติของการกำจัดพฤติกรรมผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะรุนแรง ทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุรา เพื่อให้ทั้งพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมถึงบุคลากรการแพทย์ ได้ทำงานอย่างปลอดภัย มั่นใจ และมีประสิทธิภาพ



          นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถิติ พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น ขณะที่บุคลากรที่ดูแลไม่เพียงพอ รวมถึงแนวทางการฝึกอบรมการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชทั้งจากการเมาสุราและจิตเวชด้านอื่น มีแนวทางปฏิบัติต่างกัน จึงต้องมีการทบทวนและสร้างความเข้าใจในการจัดการไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนใน รพ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบทเรียนความสูญเสียที่สำคัญถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้าผู้บริหารแต่ละ รพ. ต้องรับผิดชอบ



          ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง มีการแสดงออกถึงการขาดสติ ขาดการควบคุมตนเอง และไม่สามารถสื่อความต้องการของตนเองในทางที่เหมาะสมได้



         แนวทางในการดูแลผู้ป่วยหลักๆ คือ เจ้าหน้าที่จะต้องทราบถึงความรุนแรงของผู้ป่วยที่มี 4 อาการ ได้แก่



1. รุนแรงทางคำพูด



2. รุนแรงต่อตนเอง



3. รุนแรงต่อผู้อื่น



4. รุนแรงต่อสิ่งของทรัพย์สิน ซึ่งจะมีขั้นตอนดูแลต่างกัน



       ส่วนกรณีที่เห็นว่ามีบุคลากรถึง 4 คน เพราะเป็นทีมที่ต้องมีความพร้อม มีหัวหน้าทีม 1 คน และที่เหลือก็จะทำหน้าที่อื่น เช่น เจรจา จับยึด ผูกยึด ส่งสัญญาณ  นอกจากนี้สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยตามสถานการณ์ ต้องพูดคุยให้สงบจิตสงบใจ ให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก หรือพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่ดี เป็นต้น



       นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการเรียกตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรลักษ์ เข้ามาปฏิบัติงานที่ส่วนกลางว่าตนไม่ได้สั่งย้ายแต่เรียกตัวเพื่อมาร่วมเป็นวิทยากรการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการจะสั่งย้ายหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของสายบังคับบัญชา



 



#ดูแลผู้ป่วยจิตเวช



Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กระทรวงสาธารณสุข,Hfocus



 

ข่าวทั้งหมด

X