หลังจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครองหมั่นดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก ๆ หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รับประทานอาหารปรุงสดใหม่ สุก สะอาด เพื่อช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการเเพทย์ เปิดเผยว่า โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อยในเด็ก เชื้อนี้มีความสามารถที่จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แม้ได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน และทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆได้ดี หลังจากได้รับเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 12- 48 ชั่วโมง อาการแสดงของโรคที่พบได้บ่อย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-3 วัน
สถานการณ์ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบมีจำนวนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอกมีจำนวนไม่มากนักที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการรายงานอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อมีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่ได้ส่งตรวจในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจาย เพื่อใช้ในการแยกโรคเป็นหลัก
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่มียาหรือการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่ อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่อาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อนๆ ร่วมกับให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดภาวะทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ พิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
วิธีการป้องกันในสถานศึกษาหรือในศูนย์เด็กเล็กแนะนำให้หมั่นรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทำความสะอาดพื้นหรือสิ่งแวดล้อม หรือจุดเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกัน พื้นผิวเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งสะสมเชื้อได้เป็นเวลาหลายวัน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า “เกร็ดน่ารู้สำหรับโนโรไวรัสครับ ไวรัสชนิดนี้ก่อโรคทางระบบทางเดินอาหาร ติดแล้วเกิดการอักเสบของกระเพาะหรือลำไส้มีอาการท้องเสีย อาเจียน ขาดน้ำ ไข้ขึ้น ปวดศีรษะ เลยมีคนเรียกอาการนี้ว่า Stomach flu ซึ่งจริงๆไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไวรัส Influenza ของไข้หวัดใหญ่เลย หลังจากรับเชื้อไวรัสมาประมาณแค่ 12-48 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ก็มีอาการแล้ว ซึ่งระยะฟักตัวสั้นมาก อาการจะอยู่ไป 1-3 วัน ก็จะทุเลาหายไป แต่ ไวรัสในร่างกายยังไม่หายตามอาการนะครับ จะอยู่ในอุจจาระที่เราถ่ายออกมาต่ออีก 2-3 สัปดาห์ ในปริมาณที่แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้...อันนี้ปัญหาหลักเลยครับ เพราะคนป่วยมีอาการมักไม่แพร่เชื้อเพราะไม่ได้ไปไหนไกล คนเพิ่งหายนี่เป็นปัญหามากกว่า เนื่องจาก ไวรัสมุ่งเป้าไปที่เซลล์ในระบบทางเดินอาหาร แหล่งผลิตเพิ่มจำนวนไวรัสก็อยู่ในนั้น แหล่งของไวรัสคือ อุจจาระ และ อาเจียน ที่ออกมาซึ่งต้องจัดการให้ถูกต้องไม่ให้ปนเปื้อนไวรัส โดยเฉพาะในห้องน้ำสาธารณะ เพราะโอกาสสัมผัสเชื้อมีสูง เชื้อไม่แพร่ทางอากาศ เข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสแล้วนำเข้าปากไปเจอเซลล์ในลำไส้
ไวรัสชนิดนี้มีขนาดเล็กเหมือนเม็ดโปรตีนจิ๋วๆ เป็นไวรัสที่ไม่มีไขมันหุ้ม ดังนั้นการใช้แอลกอฮอร์ซึ่งทำลายไขมันจะไม่ work เพราะไม่มีอะไรให้ทำลาย ต้องใช้สบู่ทำความสะอาดในเวลาที่เพียงพอให้โปรตีนของไวรัสเสียสภาพ น้ำยาฆ่าเชื้อยังสามารถทำลายไวรัสได้ เช่น น้ำยาซักผ้าขาว แต่กลิ่นอาจจะไม่ค่อยน่าใช้ครับ
อาหารที่พบว่ามีเชื้อไวรัสปะปนง่ายๆคือ อาหารทานดิบ เช่น หอยนางรม กิมจิ หรือ น้ำดื่มไม่สะอาด ซึ่งการปรุงสุกสามารถทำลายไวรัสได้หมดจากความร้อนครับ
Note : เนื่องจากอาการท้องเสียกรณีเกิดจากไวรัส ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะ จะไม่ได้ผล อาการที่หายไปหลังใช้ยา เป็นการหายตามธรรมชาติ แต่อาจจะเข้าใจผิดว่า ยาฆ่าเชื้อหมดแล้ว ซึ่งอาจทำให้แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้นะครับ”
Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานว่า การระบาดของโนโรไวรัสในจีนช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบหนักต่อเด็ก โดยเฉพาะในโรงเรียน สาเหตุหลักมาจากเชื้อสายพันธุ์ GII.4 Sydney[P16] ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วและทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบรุนแรง นำไปสู่อาการอาเจียนและท้องเสีย
เหตุการณ์ระบาดในเซี่ยงไฮ้เริ่มต้นเมื่อเด็กคนหนึ่งกลับมาเรียนหลังหายจากอาการป่วยครบ 72 ชั่วโมง วันที่ 27 เม.ย.67ศูนย์ควบคุมโรคเขตผู่ตงได้รับรายงานว่ามีเด็กหลายคนอาเจียนในโรงเรียนอนุบาล จากการสอบสวนพบว่าเด็กคนแรกเคยมีอาการอาเจียนและท้องเสียที่บ้าน แต่หลังจากหายดีครบ 72 ชั่วโมงจึงกลับมาเรียนในวันที่ 25 เม.ย.67 หลังจากนั้นไม่นาน มีเด็กอีก 11 คนเริ่มแสดงอาการ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อควบคุมการระบาด ทั้งเพิ่มมาตรการตรวจสอบและทำความสะอาดในโรงเรียน กำหนดให้เด็กที่ป่วยต้องพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายดีครบ 72 ชั่วโมงก่อนกลับมาเรียน มีการเก็บตัวอย่างจากเด็กและสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจหาเชื้อ ผลยืนยันว่าเป็นการระบาดของโนโรไวรัส เด็กทุกคนหายเป็นปกติภายในวันที่ 6 พ.ค.67
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโนโรไวรัสโดยเฉพาะ การรักษาจึงทำได้เพียงบรรเทาอาการ เช่น ให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และให้ยาแก้อาเจียนถ้าจำเป็น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือขาดน้ำมากอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
#โนโรไวรัส
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมการแพทย์,Center for Medical Genomics,Anan Jongkaewwattana