KResearch คาดสถานการณ์วุ่นวายในซีเรีย ยืดเยื้อ แต่มีผลต่อราคาน้ำมันจำกัด

13 ธันวาคม 2567, 11:39น.


         KResearch ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า  ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกและภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น


         ผลจากความขัดแย้งในซีเรีย ส่งผลจำกัดต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจาก ซีเรียไม่ใช่ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญของโลก หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียปี 2554 โครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตน้ำมันถูกทำลาย ส่งผลให้ซีเรียผลิตน้ำมันดิบได้ลดลงมากจากก่อนหน้านี้ที่ผลิตได้ราว 380,000 บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันทั้งหมดเป็นการผลิตเพื่อใช้บริโภคในประเทศ


        ราคาน้ำมันในตลาดโลก ถูกกดดันจากอุปสงค์ที่อ่อนแอโดยเฉพาะจากตลาดจีน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียได้สร้างความกังวลให้ตลาดและสร้างความผันผวนต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะสั้น 


        ราคาน้ำมันทรงตัว ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(12ธ.ค.67) จากแรงกดดันอุปทานล้นตลาด 


-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนม.ค.68 ลดลง 27 เซนต์ ปิดที่ 70.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


-เบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือน ก.พ.68 ลดลง 11 เซนต์ ปิดที่ 73.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


         สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานเตือนเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาดในปีหน้า โดยระบุว่า ตลาดจะมีอุปทานน้ำมันส่วนเกิน 950,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งเกือบเท่ากับ 1% ของผลผลิตน้ำมันทั่วโลก


        นอกจากนี้ IEA ระบุว่า อุปทานน้ำมันส่วนเกินจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เริ่มปรับเพิ่มกำลังผลิตในเดือนเม.ย.2568


        IEA คาดว่า ประเทศนอกกลุ่มโอเปกพลัส นำโดยสหรัฐฯ แคนาดา กายอานา บราซิล และอาร์เจนตินา จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า ซึ่งมากกว่าอัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน


        ขณะเดียวกัน IEA ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะชะลอตัวต่อไปในปี 2568 ขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง


        หลังวันที่ 8 ธ.ค.67 กลุ่มกบฏซีเรีย สามารถยึดครองกรุงดามัสกัสซึ่งเป็นเมืองหลวงของซีเรียและโค่นล้มรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ซึ่งรัสเซียและอิหร่าน ได้ให้การสนับสนุน โดยถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อมานาน 13 ปี


        สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนกลุ่มต่อต้านระบอบนายอัสซาด และกลุ่มต่อต้านรัฐอิสลาม (ISIS) ในซีเรียยังมีท่าทีไม่ชัดเจน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีความกังวลว่าการล่มสลายของนายอัสซาด อาจทำให้กลุ่มISIS มีอำนาจมากขึ้น จึงยังโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับชัยชนะให้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวและลดการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย


       การล่มสลายของระบอบนายอัสซาด นำมาสู่ความไม่แน่นอนในภูมิภาคตะวันออกกลางสูงขึ้น สถานการณ์สูญญากาศในซีเรียปัจจุบันอาจส่งผลให้ชาติตะวันตก หรือกลุ่มที่มีแนวคิดหรือนโยบายสุดโต่งเข้ามามีอิทธิพลในซีเรียมากขึ้น โดยซีเรียมีความสำคัญในเชิงของภูมิประเทศ โดยมีบทบาทในเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกกลางและยุโรป รวมถึงมีแหล่งทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 


 


#น้ำมันโลก


#ซีเรีย


Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ KResearch 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X