ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง”ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง
โดยความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเฉพาะรถเก๋ง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและเพื่ออุดหนุนกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า พบว่า ร้อยละ 49.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 17.10 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 13.98 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จ ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ ตามแนวคิดของกระทรวงคมนาคม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.50 ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จร้อยละ 12.29 ระบุว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ร้อยละ 2.44 ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราที่แตกต่างกัน ตามพฤติกรรมการคัดแยกขยะ พบว่า ร้อยละ 50.31 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 10.30 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ด้านการรับรู้ของคนกรุงเทพฯ ต่อการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ พร้อมส่งภาพประกอบการคัดแยกขยะ เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะต่อเดือนในอัตรา 20 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 80.76 ระบุว่า ไม่ทราบเลย รองลงมา ร้อยละ 13.21 ระบุว่า พอทราบอยู่บ้าง และร้อยละ 6.03 ระบุว่า ทราบดี
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือของคนกรุงเทพฯ ในการเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ รองลงมา ร้อยละ 28.93 ระบุว่า ค่อนข้างให้ความร่วมมือ ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ไม่ให้ความร่วมมือเลย ร้อยละ 9.69 ระบุว่า ให้ความร่วมมือมาก และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
#กทม
#ค่าธรรมเนียมรถติด