ข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย อ้างว่ามีคนจากพม่าเข้ามาคลอดลูก แล้วเอาใบรับรองการเกิดลูกไปใช้สิทธิรักษาฟรีได้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายและนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ ว่า เพจดังกล่าวอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชายแดนคนหนึ่ง แต่ไม่ระบุว่ามีตำแหน่งอะไร โรงพยาบาลอะไร โดย เพจดัง สะท้อนปัญหา โรงพยาบาลรัฐ นายหน้าพาต่างด้าวมารักษา จนยอดค้างชำระหลายพันล้าน
ข้อเท็จจริงคือ ทุกคนที่มาคลอดในโรงพยาบาลจะได้รับหนังสือรับรองการเกิด ซึ่งเป็นเอกสารรับรองว่าเกิดในประเทศไทยจริง แต่เอกสารนี้ไม่ได้ให้สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้ใด การรักษาฟรีเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งต้องมีหลักฐานการมีสัญชาติไทยด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย
ต่อการอ้างว่าคนเหล่านี้เข้ามาจะซื้อบัตร UC ที่ได้สิทธิการรักษาเท่ากับบัตรทองไทยทุกอย่าง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บัตร UC หรือ Universal Coverage เราเรียกกันว่า บัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งออกให้คนที่มีสัญชาติไทยทุกคน โดยไม่มีการซื้อขาย คนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่มีสิทธิ์ได้บัตรนี้
ต่อข้ออ้างว่าหญิงพม่าเข้ามาอ้างสิทธิ ท.99 ซึ่งทำให้ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กองทุนสิทธิ ท.99 คือกองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งผู้มีสิทธิจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และคนไทยตกหล่น ที่มีการให้สิทธิอยู่อาศัย รวมทั้งสำรวจจัดทำทะเบียนและบัตรให้แล้ว โดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้เข้ามาใช้สิทธิได้เป็นกลุ่มๆ ทั้งสิทธิที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่ากับสิทธิคนไทยเลยทีเดียว หากเป็นคนต่างด้าวจากพม่าเข้ามาใหม่ไม่มีทางได้สิทธิจากกองทุนนี้
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างว่า ในเดือนที่แล้วมามีการคลอดบุตรในโรงพยาบาลชายแดนแห่งหนึ่ง เป็นคนไทยมาใช้บริการ 80 คน ขณะที่มีคนต่างด้าวมาคลอดบุตรถึง 160 คน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงจากนายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งรับผิดชอบสาธารณสุขชายแดน พบว่า ที่โรงพยาบาลท่าสองยางมีคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลท่าสองยางเพียงร้อยละ9 เท่านั้น ไม่ใช่ร้อยละ 200 ตามที่กล่าวอ้าง
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาประเทศไทย หากเป็นคนต่างด้าวทั่วไปที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องสามารถซื้อประกันสุขภาพจากเอกชนได้ และหากเป็นแรงงานข้ามชาติ รัฐจะบังคับให้ซื้อประกันสุขภาพจากรัฐแต่ในกรณีที่เป็นคนต่างด้าวอื่น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย ยังไม่มีการเปิดขายประกันสุขภาพให้คนเหล่านี้ ซึ่งรัฐต้องเปิดให้โรงพยาบาลมีการขายประกันสุขภาพให้กับคนทุกคน เพื่อคนเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ เป็นการลดภาระของโรงพยาบาลและภาระงบประมาณของประเทศ
นอกจากนี้รัฐควรสนับสนุนโรงพยาบาลชายแดนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นด่านหน้าในการรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงชายแดนและความมั่นคงของประเทศ
#คนต่างด้าวเข้าไทย