นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แนวโน้มของสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิต ช่วงปี พ.ศ.2564-2567 พบว่า
1. จำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุการดื่มแล้วขับโดยรวมมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2564-2567 แต่กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567แสดงให้เห็นว่า แม้สถานการณ์จะดูเหมือนดีขึ้นแต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด
2. จำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุการใช้ความเร็วเกินกำหนดโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564-2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากพฤติกรรม "ขับเร็ว" สูงถึง 268 ราย แต่มีแนวโน้มจะลดลงในช่วงปี 2567 โดยลดลงเหลือ 165 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้ความพยายามในการป้องกันจะเริ่มเห็นผล แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง
3. จำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยรวมมีแนวโน้มคงที่ในช่วงปี 2564 -2567 การ “ฝ่าสัญญาณไฟจราจร” เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่พบมากที่สุด สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎและมักนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชนประสานงาหรือการชนท้าย นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ร่วมกับการฝ่าสัญญาณไฟจราจร เช่น ขับเร็ว แซง เลี้ยวตัดหน้าเปลี่ยนเลนกระทันหัน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันขีดจำกัดความเร็วบนถนนในต่างประเทศจากการสำรวจเมื่อเทียบกับประเทศไทยพบว่าถนนในกรุงเทพฯมีกำหนดขีดจำกัดความเร็วสูงกว่าประเทศอื่นๆ คือ 80 km/h ในขณะที่ประเทศที่กำหนดความเร็วในเขตเมืองต่ำสุดคือฟิลิปปินส์ (40 km/h) และสูงสุดคือมาเลเซีย (90 km/h) โดยเฉลี่ยจึงอยู่ที่ 50 km/h โดยอัตราการเสียชีวิต (Fatality Risk) เทียบความแรงกระแทกจากการชน พบว่า การใช้ความเร็วที่ 60 km/h มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 20 % หากใช้ความเร็ว 80 km/h มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 60 % ปัจจุบันการใช้ความเร็วเฉลี่ยบนถนนในกรุงเทพฯกำหนด ขีดจำกัดความเร็วที่ 80 km/h แต่จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 50 km/h การขับรถด้วยความเร็วเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต เช่น กรณีของคุณหมอกระต่าย ซึ่งหากลดความเร็วลงเหลือ 60 km/h จะลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ ถึง 3 เท่า โดยในอนาคตจะใช้เทคโนโลยี กล้องตรวจจับ มาช่วย ในเรื่องของบทลงโทษออกใบสั่งให้เหมือนในต่างประเทศ
ผู้ว่าฯ กทม.เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น ถูกดำเนินคดี ผิดกฎหมาย ประกันภัยไม่รับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นการบังคับทางอ้อมให้เราต้องจำกัดความเร็วและเคารพกฎจราจร เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตก็จะผิดกฎหมายและยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกหลายชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตของคน 1 คน ส่งผลกระทบมหาศาลกับเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และยังพบว่ากรุงเทพฯเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศ ที่ยังจำกัดความเร็ว 80 km/h อยู่ ส่วนประเทศอื่นบังคับใช้ความเร็วต่ำกว่านี้หมดแล้ว ซึ่งในอนาคตกรุงเทพฯอาจจำกัดให้ความเร็วให้ต่ำลงอีกในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ชุมชน เพื่อลดอุบัติเหตุและลดความเสียหายจากการสูญเสียด้วยอุบัติเหตุ
กรุงเทพฯ ปรับปรุงมาตรการหลายอย่างเพื่อความปลอดภัยท้องถนน เช่น เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง กว่า 90,000 ดวง ปรับปรุงทางม้าลายให้ชัดเจนขึ้น กว่า 1,000 แห่ง ปรับจุดเสี่ยงอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ กว่า 100 จุด ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ ลดลงถึง 9 % อัตราการตายในระดับประเทศลดลง 1% แสดงว่า กทม. เดินมาถูกทางแล้ว โครงการจำกัดความเร็วนี้ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาการจราจรติดขัดโดยตรง แต่แก้ปัญหาผู้เสียชีวิตจากความเร็ว ลดอุบัติเหตุ ช่วยเศรษฐกิจประเทศ
#จำกัดความเร็วรถยนต์
#ลดอุบัติเหตุ
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรุงเทพมหานคร