20 ปีสึนามิ งานธรณีวิทยา ศึกษาการเคลื่อนตัวแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนใต้มหาสมุทร ลดผลกระทบบริเวณชายฝั่ง

26 ธันวาคม 2567, 14:10น.


        นายศุภวิชญ์ ยอแสงรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนธรณีเทคนิค กองเทคโนโลยีธรณี กรมทรัพยากรธรณี เขียนบทความ ความสำคัญของธรณีวิทยาและการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต จากเหตุครบรอบ 20 ปี คลื่นสึนามิ 26 ธ.ค.47



        กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการจัดการธรณีพิบัติภัยในประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเตือนภัยเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน การสร้างหอสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวชายฝั่ง การติดตั้งป้ายเตือนภัยและป้ายแสดงเส้นทางหนีภัยสึนามิ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแจ้งเตือนภัย เช่น ระบบ SMS และแอปพลิเคชันเตือนภัยต่าง ๆ



        ธรณีวิทยามีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจการเกิดคลื่นสึนามิ และช่วยในการวางมาตรการป้องกันรวมถึงลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นสึนามิในระยะยาว การศึกษาธรณีวิทยาเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนใต้มหาสมุทร และโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ตลอดจนการวิเคราะห์ตะกอนวิทยาตามแนวชายฝั่งทะเลเพื่อค้นหาตะกอนสึนามิในอดีต (paleotsunami) มีความสำคัญในการสร้างข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพยากรณ์การเกิดคลื่นสึนามิ ข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้ในการคาดการณ์เวลาเดินทางของคลื่นสึนามิโดยใช้แบบจำลองที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับกลไกการเกิดแผ่นดินไหวและคาบอุบัติซ้ำ อีกทั้งยังช่วยประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล ข้อมูลดังกล่าวสามารถสนับสนุนการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิในบริเวณชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ



        ย้อนกลับไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ตระหนักถึงมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นจากคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเขาหาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันมาก่อน เนื่องจาก คลื่นสึนามิเป็นธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง และประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบเตือนภัยสึนามิ (Tsunami Warning System) ที่ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดียหรือในทะเลอันดามัน ในรูปแบบของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ



        เหตุการณ์คลื่นสึนามิครั้งหายนะเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 หรือที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ "Boxing Day Tsunami" ได้ฝากร่องรอยความเสียหายที่รุนแรงต่อพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลครั้งใหญ่บริเวณเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดียเข้าใต้แผ่นเปลือกโลกย่อยพม่า แผ่นดินไหวมีความรุนแรงขนาดมากกว่า 9 ตามมาตราโมเมนต์ (Mw) และมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่บริเวณนอกชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของตอนเหนือ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ผลกระทบจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่มียอดคลื่นสูงสุดประมาณ 10 เมตร เคลื่อนตัวเข้ากระทบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยอย่างรุนแรงส่งผลให้น้ำทะเลเข้าท่วมรุกเข้ามาในแผ่นดินและทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่ง ถึงแม้คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาในเคลื่อนที่มาถึงชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย แต่ในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยสึนามิและประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าการที่ระดับน้ำทะเลที่ลดลงอย่างผิดปกติ ถอยร่นไปจากชายฝั่งอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญของการเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล



 



#คลื่นสึนามิ



Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมทรัพยากรธรณี



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X