คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 3 เรื่อง โดยเป็นเรื่องของอดีตสส.จำนวน 2 เรื่องดังนี้
เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ราย ฝากผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนแทน ในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 โดยที่ตนเองไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (3 สำนวนคดี)
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ได้ปรากฏชื่อนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว และนายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย แสดงตนและลงคะแนนทั้งที่บุคคลทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดระยะเวลาที่มีการประชุม เนื่องจากมีการเดินทางไป - กลับ ต่างจังหวัดโดยเครื่องบิน กรณีจึงรับฟังได้ว่านายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ได้ฝากบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือยินยอมให้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์กดปุ่มแสดงตนและลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
การกระทำของนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76
เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีกล่าวหา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลใด เนื่องจากยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลแทนให้แก่ตนเอง
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2562 และวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 มีค่ารักษาพยาบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,223 บาท
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้ยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแทนตนเอง รวมเป็นเงินจำนวน 1,335,778 บาท และได้นำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาไปเบิกค่ารักษาพยาบาล จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเบิกจ่ายได้เป็นเงิน จำนวน 495,409.50 บาท มีส่วนที่เกินสิทธิไม่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นเงินจำนวน 953,813.50 บาท
ต่อมานายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลหนึ่งในสามราย ที่ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนตน เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 2455/2563 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 การกระทำของนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ จึงเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
การกระทำของนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมีมูลความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้เสนอเรื่องกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 และมาตรา 87 ประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 แล้วแต่กรณีต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมhttps://shorturl.asia/w7lKe
#ชี้มูลความผิดอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
Cr:สำนักงานป.ป.ช.