นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ที่ 3,780,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิที่ 2,920,000 ล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณ 860,000 ล้านบาท ลดจากปี 2568 ที่ 100,000 ล้านบาทด้านหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 67.3 ตามกรอบการคลังระยะปานกลาง 2569 – 2572 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
ทั้งนี้ 4 หน่วยงานเห็นตรงกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จึงทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้มากขึ้น ดังนั้นการจัดงบประมาณระยะปานกลางใน 4 ปี ข้างหน้า จะจัดทำในลักษณะขาดดุลน้อยลง โดยยังใช้งบที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนจากต่างประเทศหลายปัจจัย จึงต้องดูแลอย่างเข้มงวด
รัฐบาลได้กำหนดรายได้สุทธิ ปี 2570 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท, ปี 2571 วงเงิน 3,240,000 นล้านบาท, ปี 2572 วงเงิน 3,390,000 ล้านบาท และกำหนดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2570 วงเงิน 3,860,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 760,000 ล้านบาท, ปี 2571 วงเงิน 3,930,000 ล้านบาท ขาดดุล 720,000 ล้านบาท, ปี 2572 วงเงิน 4,090,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2570 อยู่ที่ร้อยละ 68.50, ปี 2571 อยู่ที่ร้อยละ 69.20, ปี2572 อยู่ที่ร้อยละ 69.30 ภายใต้สมติฐาน จีดีพีในปี 2569-2571 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.8 ขณะที่ปี 2572 ขยายตัวร้อยละ 3
นายอนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า การจัดทำงบประมาณปี 2569 จะต้องจัดงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ โดยในวันที่ 31 มกราคม 2568 ส่วนราชการจะต้องส่งคำขอมาที่งบประมาณ เพื่อวิเคราะห์งบประมาณนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
...
#เศรษฐกิจไทย
#งบประมาณ2569