พระราชพิธีสมมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568 มีกิจกรรมอะไรบ้าง? ความหมายของ "สมมงคล" (สะ-มะ-มง-คน) คือ การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น วันดำรงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกัน หรือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนมาเสมอเท่ากันเป็นครั้งแรก มักเรียกว่า "สมมงคล" หมายถึง "เสมอกัน"
วันอังคาร ที่ 14 มกราคม 2568 เป็นวันมหามงคลพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น นอกจาก "สมมงคล" หมายถึง เสมอกัน แล้วยังมี "สมภาคา" ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า "ทวิภาคา"บ้าง หรือ "ทวีธาภิเษก" บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5
พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย ถือเป็นภาพลักษณ์แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน
ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในวาระสําคัญ ๆ เสมอมา ซึ่งแสดงถึงพระราชจริยาวัตรและวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเทิดทูนพระราชกรณียกิจของพระบรมราช บูรพการีที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนําความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาราษฎร์และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง พระบรมราชวงศ์จึงยั่งยืนมั่นคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ คือ
1. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2508
2. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2528
3. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534
4. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งนับพระชนมวารได้ 26,469 วัน โดยครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักร เพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป
การจัดพิธีการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วันอังคาร ที่ 14 มกราคม 2568
- เวลา 07.30น. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล สถานที่ : ส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม
- เวลา 09.00 น. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ สถานที่ ส่วนกลาง ณ เต็นท์พิธีการ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม
การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในนามรัฐบาล จำนวน 7 กิจกรรม ได้แก่
1. การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2568 ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร โดยวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและคณะสงฆ์หนเหนือ ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ซึ่งเป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา ประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่ พิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ การสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี การจัดสาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา
2. การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรจะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ซึ่งบริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์
3. การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรจะจัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ในวันที่ 14 มกราคม 2568ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
4. การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
5. การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถาน อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ณ ศาสนสถานอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดราชาธิวาส วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
6. การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สำหรับวัดไทยในต่างประเทศห้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
7. การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดกิจกรรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไม้มงคลหายาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ ตะเคียนทอง พิกุล และอินจัน
#พระราชพิธีสมมงคล