สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่า จีนมีจำนวนทารกแรกเกิดและอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นในปี 2567 หลังจากลดลงติดต่อกัน 7 ปี โดยได้แรงหนุนจากการที่ปี 2567 ตรงกับปีนักษัตรมังกรหรือปีมะโรงตามปฏิทินจันทรคติจีน ยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด19) และนโยบายที่ส่งเสริมให้คู่สมรสมีบุตร
สำนักงานฯ เปิดเผยว่าจีนมีทารกแรกเกิด 9,540,000 คนในปี 2567 เพิ่มขึ้น 520,000 คนเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยอัตราเกิดในปี 2567 อยู่ที่ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คน เพิ่มขึ้น 0.38 คนต่อประชากร 1,000 คนเมื่อเทียบกับปี 2566
หยวนซิน รองประธานสมาคมประชากรจีนและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยหนานไค ให้ความเห็นว่าการเติบโตนี้มีปัจจัยจากการจดทะเบียนสมรสที่เพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 ปีนักษัตรมังกร และระบบสนับสนุนการมีบุตรที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อีกทั้งคาดว่าการแต่งงานที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดภายใน 1-2 ปี เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงยึดถือประเพณีการแต่งงานก่อนมีลูก
ทั้งนี้ จีนกำลังจะปิดฉากปีมังกรตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งปกติแล้วมักเป็นปีที่ผู้คนมีลูกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมังกรหรือหลงเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภในวัฒนธรรมจีนและถือเป็นสัตว์มงคลที่สุดในบรรดานักษัตรทั้ง 12
ข้อมูลทางการระบุว่าชาวจีนราว 11,940,000 คนแต่งงานเป็นครั้งแรกในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52 เมื่อเทียบกับปี 2565 และถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกของจำนวนคู่บ่าวสาวตั้งแต่ปี 2557 โดยบรรดานักวิเคราะห์ระบุว่าการจดทะเบียนสมรสที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการที่คู่บ่าวสาวจำนวนมากเลื่อนแผนการแต่งงานออกไปหลังเกิดโรคโควิด19
เมื่อปี 2558 จีนได้ยุตินโยบายลูกคนเดียวที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ โดยให้คู่สมรสมีบุตรได้ 2 คน ก่อนที่จะมีการขยายเพิ่มเติมในปี 2564 เพื่อให้มีบุตรได้ถึง 3 คน
ในเวลาต่อมา รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้นำมาตรการสนับสนุนต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อการมีบุตรมากขึ้น โดยมาตรการเหล่านี้รวมถึงการขยายระบบการดูแลเด็กและการเสริมสร้างการศึกษา ที่อยู่อาศัย ตลอดจนสนับสนุนการจ้างงาน
....
#สังคมจีน