ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งบริหารเพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทันทีหลังสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำอเมริกาสมัยที่ 2 เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) โดยกล่าวหา WHO ว่ามีการจัดการที่ผิดพลาดต่อสถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 รวมไปถึงวิกฤตสาธารณสุขอื่นๆ “องค์การอนามัยโลกรีดไถเงินเรา ทุกคนรีดไถเงินจากสหรัฐฯ หมด จะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป” ทรัมป์ กล่าวระหว่างลงนามคำสั่งบริหารเพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO
ล่าสุด WHO ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ คำสั่งบริหารของ ทรัมป์ จะมีผลทำให้สหรัฐฯ ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิก WHO ในอีก 12 เดือนนับจากนี้ ขณะที่วงเงินสนับสนุนภารกิจของ WHO ทั้งหมดก็จะถูกระงับด้วย
ปัจจุบันสหรัฐฯ ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของ WHO โดยคิดเป็นสัดส่วน 18% ของเงินทุนทั้งหมด ขณะที่งบประมาณของ WHO ในระยะ 2 ปีจาก 2024-2025 อยู่ที่ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอก WHO ระบุตรงกันว่า การถอนตัวของสหรัฐฯ จะทำให้โครงการต่างๆ ของ WHO ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการต่อต้านวัณโรค (tuberculosis) ซึ่งถือเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้ประชากรโลกล้มตายมากที่สุด รวมไปถึงโครงการต่อต้าน HIV/AIDS และสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอื่นๆ
คำสั่งของ ทรัมป์ ยังกำหนดให้สหรัฐฯ ระงับการเจรจาสนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่ของ WHO ในระหว่างที่กระบวนการถอนตัวกำลังดำเนินอยู่ ขณะที่บุคลากรของสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับ WHO จะถูกเรียกตัวกลับและมอบภาระงานใหม่ให้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะมองหาหุ้นส่วนเพื่อเข้ามาเทกโอเวอร์กิจกรรมที่จำเป็นแทน WHO ด้วย
เนื้อหาของคำสั่งบริหารยังกำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวน เพิกถอน และทดแทนยุทธศาสตร์ ความมั่นคงด้านสุขภาพสากลของสหรัฐฯ (U.S. Global Health Security Strategy) ประจำปี 2024 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้จริง
สำหรับผู้บริจาคอุดหนุน WHO รายใหญ่อันดับ 2 ได้แก่ มูลนิธิบิล & เมลินดา เกตส์ ทว่าวงเงิน ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อการกำจัดโรคโปลิโอ ส่วนผู้บริจาครองๆ ลงมา ได้แก่ กลุ่มองค์กรพันธมิตรด้านวัคซีน Gavi คณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
ประเทศผู้บริจาครายใหญ่รองจากสหรัฐฯ ได้แก่ เยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณ WHO ทั้งหมด
ตามกฎหมายสหรัฐฯ การถอนตัวจาก WHO จะต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งระหว่างนั้นสหรัฐฯ ยังคงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่จำเป็นต่างๆ และก่อนที่การถอนตัวของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ ปรากฏว่า โจ ไบเดน ชนะศึกเลือกตั้งและได้เข้ามายับยั้งทันทีตั้งแต่วันแรกที่สาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ปี 2021
#ถอนตัว
#องค์การอนามัยโลก
#ผู้นำสหรัฐ