นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาว ประเทศไทยมักประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอากาศแห้งและเย็น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรมีการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษพืชที่เหลือทิ้ง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกครั้งใหม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้มีการติดตามและยกระดับมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการออกประกาศมาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร
ด้านกรมประมงขานรับนโยบายเร่งด่วน ได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร ด้านการประมง พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ให้การสนับสนุนเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีประวัติทำการเผาในพื้นที่การเกษตร ในการได้รับการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านการประมง รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ทุกโครงการ หากตรวจพบว่าเกษตรกรหรือคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการใดๆ ทางด้านการประมง แต่มีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตรให้ถือว่า “ขาดคุณสมบัติ” และจะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการฯ ด้านการประมงทุกโครงการ นับตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2570
นอกจากนี้ กรมประมงยังมีแนวทางในการที่จะใช้กิจกรรมในภาคการประมงมาช่วยลดการสร้างมลพิษทางอากาศด้วย โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการจัดการวัสดุทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและลดหมอกควัน หรือ “โครงการฟางมาปลาโต” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำฟางข้าว ที่เหลือจากการทำนามาเป็นวัตถุดิบในการสร้างอาหารสัตว์น้ำธรรมชาติ ลดมลพิษจากการเผาในพื้นที่การเกษตร เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ในระยะยาวทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 ในระยะเวลาการเลี้ยง 1 ปี ใช้ฟางข้าว ประมาณ 800 กิโลกรัม/ไร่/ปี สามารถลดคาร์บอนได้กว่า 42.31 กิโลกรัมคาร์บอน และลดปริมาณฝุ่นละอองได้ประมาณ 6,280 กิโลกรัม โดยในปี 2568 กรมประมงขยายผลการดำเนินโครงการ เพิ่ม ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา นครพนม และกาฬสินธุ์ มีการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะการสร้างอาหารธรรมชาติในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำจากวัสดุการเกษตร สนับสนุนลูกพันธุ์ปลากินพืชให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รายละ 3,000 ตัว และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการเตรียมบ่อและสร้างอาหารธรรมชาติ พร้อมทั้งจัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากจบโครงการฯ คาดว่าจะสามารถกำจัดวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ได้มากกว่า 56,000 กิโลกรัม ลดการเกิดฝุ่นละอองได้ไม่น้อยกว่า 4,000 กิโลกรัม และมีปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 28,700 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,296,000 บาท และในอนาคตกรมประมงมีแผนขยายผลไปยังเกษตรกรอีก 4,200 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่มีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างถูกวิธี และสามารถลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ ในปี 2568 ได้ขยายผลสู่แหล่งน้ำชุมชน โดยดำเนิน “โครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชน” โดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 7 ชนิด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม ปลาเกล็ดเงิน ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียน ปลาบ้า ปลานิล และปลาบึก ลงในแหล่งน้ำปิดของชุมชนเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำปิด ขนาด 10 – 60 ไร่ ของชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 1,500 แห่ง และจะใช้ฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์น้ำ โดยกำหนดแผนการใช้ฟางข้าวไว้ แหล่งน้ำละไม่น้อยกว่า 1 จุด จุดละ 500 กิโลกรัม อย่างน้อย 2 ครั้ง/แหล่งน้ำ ดังนั้น โครงการดังกล่าวใช้ฟางข้าวไม่น้อยกว่า 1,500,000 กิโลกรัม (1,500 ตัน) เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำชุมชนได้มากกว่า 6,000 ตัน มูลค่ามากกว่า 450 ล้านบาท
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมง มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวข้างต้นจะสามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้อย่างจริงจัง และช่วยส่งเสริมเพิ่มรายได้ลดค่าครองชีพให้กับเกษตรกรและประชาชน ตลอดจนเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำประจำถิ่นรุ่นใหม่ในธรรมชาติและสัตว์น้ำที่ไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามธรรมชาติในช่วงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ได้ ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำให้คืนความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนเพื่อชุมชน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือประชาชนผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทรศัพท์ 0 2562 0585 หรือสำนักงานประมงในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ
#ตัดสิทธิเกษตรกรเผาตอซังข้าว
Cr:เพจประชาสัมพันธ์กรมประมง