ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน สะท้อนจาก ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เฉลี่ยสูงกว่าระดับ 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ (18-26 ม.ค.68) ทำให้คนบางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในเรื่องค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท และหากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะสูงกว่านี้ เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM 2.5 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งในการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดูแลป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ
ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้น โดยใช้สมมติฐานว่า คนกรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจไม่ต่ำกว่า 2,400,000 คน ซึ่งประมาณว่าครึ่งหนึ่ง อาจมีอาการเจ็บป่วยต้องไปพบแพทย์ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน และมีค่ารักษา ค่าเดินทาง เฉลี่ยต่อคน 1,800-2,000 บาท รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาจมีค่าใช้จ่ายในการดูแลป้องกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกันอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท ขณะที่หากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะสูงกว่านี้
การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ยังประเมินออกมาเป็นมูลค่าผลกระทบอย่างชัดเจนได้ยากยังคงมีอยู่ ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง ตลอดจนผลต่อภาพรวมของประเทศที่ทางการมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การแพทย์ และอื่นๆ ในเวทีโลก
...
#ฝุ่นPM
#เศรษฐกิจไทย