กรมการขนส่งทางรางเผยรถไฟฟ้าฟรีวันแรกตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของรัฐบาล พบว่ามีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้าน 6 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.68) เป็นวันแรกที่มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าทุกสายทางและรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฟรี ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 รวม 7 วัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,634,446 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 (ค่าเฉลี่ยฯ) ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รถไฟฟ้า Airport Rail Link มีผู้ใช้บริการจำนวน 68,903 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 14,049 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.61)
2. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 35,705 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 8,951 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.46)
3. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) มีผู้ใช้บริการจำนวน 451,251 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 124,247 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.00)
4. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 59,160 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 13,361 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.17)
5. รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) มีผู้ใช้บริการจำนวน 857,878 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 270,591 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.07)
6. รถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้ใช้บริการจำนวน 18,691 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 10,966 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 141.95)
7. รถไฟฟ้าสายนัคราพิพัฒน์ (สีเหลือง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 63,796 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 30,687 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.68)
8. รถไฟฟ้าสายสีชมพูให้บริการ มีผู้ใช้บริการจำนวน 79,062 คน (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 36,619 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.28)
ซึ่งหากเรียงลำดับ จะพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มมากขึ้น 1.42 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามเสาร์ที่ผ่านมา รองลงมาคือรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.68 และร้อยละ 86.28 ตามลำดับ โดยทั้งสามสายทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (feeder) ที่มีเส้นทางผ่านที่อยู่อาศัยของประชาชนและเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก
สำหรับรถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ให้บริการรวม 215 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 75,303 คน ประกอบด้วย ผู้โดยสารขบวนรถเชิงพาณิชย์ 31,850 คน และขบวนรถเชิงสังคม 43,453 คน ลดลงจำนวน 3,116 คน หรือลดลงร้อยละ 3.97 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
ภาพรวมวันที่ 25 มกราคม 2568 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,709,749 คน เพิ่มขึ้น 506,355 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.08 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
นายพิเชฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนใช้ระบบรถไฟฟ้าที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อันเป็นแนวทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งจะช่วยส่งผลให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอีกด้วย สำหรับในวันพรุ่งนี้ (27 ม.ค.68) ซึ่งเป็นวันจันทร์วันแรกของสัปดาห์คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น แม้ว่ารัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (work from home :WFH) ควบคู่ด้วยเช่นกัน กรมการขนส่งทางรางจึงได้ประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในการให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการและเพิ่มช่องทางการออกบัตร/เหรียญโดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยสูงสุดต่อไป
...
#กรมการขนส่งทางราง #ขนส่งทางราง #กรมราง #รถไฟฟ้า #ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า