อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ค่ายทหารเอาช์วิทซ์ของโปแลนด์ระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้นำโลก เช่น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสจะเยือนโปแลนด์ในวันนี้ (27 ม.ค.) เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ที่กองทัพนาซีเยอรมนี สังหารชาวยิวในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวยิวถูกสังหารเสียชีวิต 6 ล้านราย พร้อมทั้งรำลึกครบรอบ 80 ปี วีรกรรม หลังฝ่ายสัมพันธมิตรเช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ฝรั่งเศสและรัสเซีย ร่วมขับไล่กองทัพนาซีเยอรมนี ออกจากค่ายเอาช์วิทซ์ในเมืองออชเวียนซิม ทางภาคใต้ของโปแลนด์เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2488 มีชาวยิวเสียชีวิต 1.1 ล้านราย ระหว่าง 2483-2488 รวมถึงเชลยศึกชาวโปแลนด์และชาวรัสเซียเสียชีวิตหลายราย ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดาของโปแลนด์ในฐานะเจ้าภาพจะปราศรัยเปิดงาน พร้อมย้ำว่า เป็นโอกาสที่ทั่วโลกจะร่วมรำลึกเหตุรุนแรงในยุคที่กองทัพนาซีกระทำต่อชาวยิว
สำหรับพิธีการต่างๆจัดขึ้นบริเวณประตูทางเข้าค่ายเอาช์วิทซ์ โดยอดีตทหารผ่านศึก 50 คนจะเข้าร่วมพิธี หนึ่งในสัญลักษณ์ของการจัดงานรำลึกในวาระนี้คือ การติดตั้ง ตู้รถไฟสินค้า 1 ตู้ที่บริเวณทางเข้าค่าย เพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่ชาวฮังการีเชื้อสายยิว 420,000 คน ซึ่งถูกกองทัพนาซีเยอรมนี ขนส่งไปยังค่ายเอาช์วิทซ์
ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติ(UN)ประกาศในปีพ.ศ.2548 ให้วันที่ 27 มกราคม ทุกปี เป็นวันสากลแห่งการรำลึกเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ (International Holocaust Memorial Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ชาวยิวถูกสังหาร นับตั้งแต่ปี 2488 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการจัดงานรำลึกในปีนี้ มีขึ้นในช่วงที่เกิดกระแสต่อต้านยิวในยุโรป หลังอิสราเอลทำสงครามในเขตฉนวนกาซาเพื่อปราบปรามกลุ่มฮามาส ที่ได้บุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 สอดคล้องกับผลสำรวจจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป(FRA)เผยแพร่ในเดือนมิ.ย.67 ระบุว่า มีการก่อเหตุรุนแรงต่อชาวยิวในยุโรปสูงกว่าร้อยละ 400 นับตั้งแต่เกิดสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสในเขตฉนวนกาซาในเดือนต.ค.2566
#รำลึกฮอโลคอสต์
#รำลึก80ปลดแอกค่ายเอาช์วิทซ์