หลังจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. สนับสนุนหลักการของร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็น เพื่อปรับร่าง พ.ร.ก.ให้สามารถนำมาใช้ในการยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลไกที่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น หากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่ ธปท. ให้ความสำคัญ และอยู่ระหว่างการผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาต่อเนื่อง
ในส่วนของ ธปท. จะมีการประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.ก.ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษ หลาย ๆ ประเด็นโดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีสาระสำคัญในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ดังนี้
1.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
2.เพิ่มหน้าที่ให้ Telco Provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
3.เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
4.เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
5.เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
6.เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
สำหรับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกัน เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการ อีกทั้งยังมีมาตรการอื่นอีก เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศในการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งล่าสุดได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นรายงานในที่ประชุม ซึ่งทุกประเทศก็เห็นพ้องในการยกระดับร่วมกัน และถือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงในโซเชียล เป็นภัยที่ทุกประเทศต้องตระหนัก จึงต้องทำงานร่วมกัน
#แบงก์ชาติ
#เอาผิดแบงก์
#เครือข่ายมือถือ
#แก็งคอลเซนเตอร์