ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สอบสวนดำเนินคดีกับผู้บริหาร บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และมีความเห็นสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาจำนวน 19 ราย ในความผิดฐาน
(1) “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่)”
(2) “ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น”
(3) “ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
(4) “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”
(5) “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิเศษไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 เนื่องจาก กรณีดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานการฟอกเงิน พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ สั่งการให้ กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ที่มีพฤติการณ์ฟอกเงินโดยนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวไปทำการโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน เป็นคดีพิเศษที่ 115/2567
เมื่อวันอังคารที่ 28 ม.ค.68 พันตำรวจตรี ยุทธนา มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีดีเอสไอ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และนายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว จำนวน 9 แฟ้ม รวมกว่า 3,000 แผ่น พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่
-บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด
-นายวรัตน์พล หรือ บอสพอล
-นายสามารถ และนางวิลาวัลย์
ในข้อหากระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปส่งมอบให้ นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษมีความเห็นทางคดีต่อไป
กรณีการโอนและรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และผู้ต้องหาอีก 18 ราย ในคดีความผิดมูลฐานไปยังบุคคลอื่น ๆ ซึ่งอาจมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อธิบดีดีเอสไอ มีข้อสั่งการให้แยกสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว
การดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษให้มีความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม เป็นนโยบายหลักประการสำคัญของ พันตำรวจตรี ยุทธนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสอบสวนคดีพิเศษและให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของสังคมในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบเพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป
#ดีเอสไอ
#ดิไอคอนกรุ๊ป
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ