'อนุทิน' เรียกประชุม บกปภ.ช. เกาะติด PM2.5 ย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการลุยแก้ปัญหาในรัฐบาล เข้ม 6 มาตรการยกระดับลดไฟป่า หมอกควัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา บกปภ.ช. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการฯ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ หน่วยงานราชการระดับกระทรวง กรม เหล่าทัพ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย
ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง การลักลอบเผาป่า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน และจังหวัดที่มีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงสุด 5 อันดับ คือ จ.กาญจนบุรี ชัยภูมิ ลพบุรี ตาก และจ.นครราชสีมา และรับฟังการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์จากหน่วยงานพยากรณ์อากาศ
บกปภ.ช. ทำงานในฐานะตัวแทนรัฐบาล ในการสั่งการทุกกระทรวง กรม โดยในระดับพื้นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมีเอกภาพในการบริหารจัดการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผาเรียบร้อยแล้ว และได้ยกระดับการดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น โดยใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นอกเหนือจากอำนาจในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ การร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด
ต้องยอมรับว่าตอนนี้มูลเหตุของปัญหาอยู่ที่การเผา ดังนั้น ต้องควบคุมไม่ให้มีการเผา ต้องจัดการในบ้านเราให้เรียบร้อยก่อน และถ้าหากว่าในประเทศเราไม่มีปัญหา แต่ยังมีสถานการณ์มาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการลงโทษ (Sanctions) อาทิ ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศที่ก่อปัญหา
ต้องดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการเผา เพราะไม้ขีดก้านเดียวเพียงแค่แก้ปัญหาในการสร้างรายได้ แต่มันสร้างปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ จึงต้องไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก และต้องกำหนดวิธีการที่เป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชนเกษตรกร เช่น ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้แก้ปัญหาด้วยการฝังกลบและหาวิธีในการแปรสภาพเศษซังข้าวโพด จำนวนกว่า 700,000 กิโลกรัม (700 ตัน) ด้วยการขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเครื่องจักรกลไปไถกลบ นำเครื่องแพ็คมาใช้งาน โดยชาวบ้านนำซังข้าวโพดไปอัดแพ็คเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (Bio-Power) ทำอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรไม่เผา ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณในการเยียวยาฟื้นฟู ซึ่งในปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณเยียวยาอุทกภัยทั่วทุกภาคไปกว่า 20,000 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งต้องประสบภัยก่อนแต่ในกรณีสถานการณ์ภัยหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีความแตกต่างกัน เพราะถ้าจะเกิดภัย ต้องเผาก่อน และค่ามลพิษต้องเกิน 150 ไมโครกรัม ซึ่งหากไปถึงจุดนั้นประเทศไทยมืดมิดทั้งประเทศแล้ว และยังส่งผลต่อการดูแลสุขภาพอนามัยที่จะต้องเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อป้องก่อนที่จะเกิดภัย
เน้นย้ำว่า ให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเต็มศักยภาพ ต้องตีเส้นแบ่งกรอบในแต่ละจังหวัด เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ ภาคการเกษตร อสม. อาสาสมัคร และทุกภาคส่วน โดยในส่วนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเด็ดขาดและควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน จะออกมาในลักษณะการขอความร่วมมือก่อน หากยังพบการเผาแสดงว่ายังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกอย่างเป็นไปตามกติกาสากล ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพราะนี่เป็นข้อสั่งการมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว นายกฯเน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และหากพบว่าผู้ว่าฯคนใดยังละเว้นอยู่ ก็ต้องมาอยู่ตึกหลังนี้ นายกฯรีบเซ็นให้อยู่แล้ว
#งดเผาทุกประเภท3เดือน
Cr:กระทรวงมหาดไทย