ไทย-หลายชาติในเอเชียตอ. ออกมาตรการรับมือ-ติดตามผลกระทบ 'วิกฤตโรคไข้หวัดใหญ่'

วันนี้, 08:46น.


            โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดหนักในเอเชียตะวันออก จากสถิติผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่นและไต้หวันช่วงต้นปีนี้  ศูนย์จีโนมทางการแพทย์Center for Medical Genomics รายงานเรื่องการรับมือของแต่ละประเทศๆต่างๆในภูมิภาคได้ออกมาตรการรับมือที่หลากหลาย


-ไต้หวัน ขยายโครงการฉีดวัคซีนฟรีให้ประชาชนทุกคนอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สัปดาห์ที่ 19-25 ม.ค.68 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาสูงถึง 162,352 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค.67 จนถึงต้นเดือนก.พ.68 พบผู้ป่วยอาการหนัก 667 ราย และเสียชีวิต 132 ราย ผู้ป่วยอาการหนักกว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ระบบสาธารณสุขรับมือหนัก ไวรัสที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โดยพบสายพันธุ์ย่อยที่สำคัญสองชนิด คือ A(H1N1)pdm09 ซึ่งพบการระบาดในโยโกฮาม่าเมื่อกันยายน 2024 โดยไวรัสที่แยกได้พบว่าดื้อต่อยา oseltamivir และ peramivir และสายพันธุ์ A(H3N2) ซึ่งพบการระบาดในกลุ่มเด็กที่เมืองหลินยี ประเทศจีน


-ฮ่องกง พบผู้เสียชีวิต 88 ราย ตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.68 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ทำให้ทางการต้องเน้นย้ำความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง


-ด้านประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คนไทยที่วางแผนเดินทางไปญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พกยารักษาไข้หวัดใหญ่ติดตัว และทำประกันสุขภาพเผื่อกรณีต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างประเทศ 


-ขณะเดียวกัน ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ  สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ก็รายงานจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน


            ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนยารักษาไข้หวัดใหญ่ทั้งในโรงพยาบาลและร้านขายยา ตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 317,812 รายในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีที่แล้ว  (23-29 ธ.ค.67) นับเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 1999 โดยมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงสามเท่า สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างวันที่ 2 ก.ย.67 ถึง 26 ม.ค.68 มีผู้ป่วยสะสมราว 9.52 ล้านราย เฉลี่ยวันละ 66,132 ราย ในญี่ปุ่น พบสัดส่วนของสายพันธุ์ A(H1N1)pdm09 ร้อยละ 77.1 และ A(H3N2) ร้อยละ 22.9 ส่วนในไต้หวัน สายพันธุ์หลักที่พบคือไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1)


          การจากไปของสวี ซีหยวน (徐熙媛) หรือที่รู้จักในชื่อ ต้าเอส (大S) และ บาร์บี้ สู (Barbie Hsu) นักแสดงชาวไต้หวันวัย 48 ปี สร้างความสะเทือนใจให้สาธารณชนอย่างมาก เธอเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ที่ลุกลามเป็นปอดบวม ขณะท่องเที่ยวในญี่ปุ่นช่วงตรุษจีน กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ แม้แต่ในผู้ใหญ่ที่แข็งแรง


          เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 ม.ค.68 เมื่อสู เดินทางถึงญี่ปุ่นพร้อมครอบครัว โดยมีอาการหวัดและหอบหืดเล็กน้อยมาก่อน จากนั้นในวันที่ 31 ม.ค.68 อาการของเธอแย่ลงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินที่ฮาโกเนะ แต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาลเพราะอาการยังไม่หนักมาก ต่อมาในวันที่ 1 ก.พ.68 สูถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ในโตเกียว แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และแนะนำให้นอนโรงพยาบาล แต่สูและครอบครัวปฏิเสธเพราะมีตั๋วเครื่องบินกลับแล้ว จนกระทั่งวันที่ 2 ก.พ.68 อาการของเธอทรุดหนักช่วงดึก ขณะกลับโรงแรม สู หยุดหายใจจนต้องรีบพาไปคลินิกใกล้ที่สุด ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบปอดทั้งสองข้างขาวโพลน ชี้ถึงอาการรุนแรง เธอถูกนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้งในสภาพวิกฤต และเสียชีวิตในช่วงเช้าตรู่


          สาเหตุการเสียชีวิต สู เสียชีวิต อย่างเป็นทางการจากปอดบวมที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ บันทึกทางการแพทย์ที่รั่วไหลออกมาระบุว่า ก่อนเสียชีวิต ระดับออกซิเจนในเลือดของเธอลดเหลือร้อยละ 89 และแพทย์ได้ยินเสียงหายใจผิดปกติ ชี้ถึงความเสียหายของปอด คำวินิจฉัยสุดท้ายระบุว่าสาเหตุที่แท้จริงคือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรง


          ประวัติสุขภาพที่น่ากังวล สู มีโรคประจำตัวหลายอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เธอมีปัญหาด้านหัวใจคือโรคลิ้นหัวใจไมตรัลโปร่ง นอกจากนี้ยังเคยมีอาการชักรุนแรงหลายครั้ง และมีโรคหอบหืด ด้านสุขภาพจิต เธอมีภาวะซึมเศร้าและโรคการกินผิดปกติ รวมถึงมีปัญหาด้านระบบสืบพันธุ์ โดยเคยแท้ง 2 ครั้ง และเกือบเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดลูกคนที่สองในปี 2016


           ผลกระทบต่อสังคม การเสียชีวิตของสู ส่งผลกระทบในวงกว้าง ข่าวการเสียชีวิตของเธอกลายเป็นหัวข้อยอดนิยมบน Weibo ความต้องการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่พุ่งสูงในฮ่องกงและไต้หวัน โดยแพทย์ในฮ่องกงรายงานว่ามีคนสอบถามเรื่องวัคซีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเกิดการถกเถียงเรื่องระบบสาธารณสุขญี่ปุ่นในการรับมือผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน


          ผลกระทบและการรับมือในวงกว้าง ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว กรณีนี้ จุดประเด็นถกเถียงเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ผู้มีโรคประจำตัวพิจารณาเลื่อนการเดินทางไปพื้นที่ระบาดหนัก และให้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน และรักษาความสะอาดมืออย่างเคร่งครัด


 


#วิกฤตโรคไข้หวัดใหญ่


Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Center for Medical Genomics


 


 
ข่าวทั้งหมด

X