กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ จะเริ่มช้ากว่าปกติ (ประมาณปลายเดือนก.พ.) ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพ.ค. โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ สลับกับมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ และจะมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในบางวัน ส่วนมากช่วงปลายเดือนมี.ค. ถึงกลางเดือนเม.ย. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-36 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะต่ำกว่าปีที่แล้ว(ช่วงฤดูร้อนปี 67 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37.5 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติ 10-20%
กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล: จะมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป แต่จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ โดยอุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าว ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้น ประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว
#ฤดูร้อน