ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว ถึงไข้หวัด พาราอินฟูลเอ็นซ่า (parainfluenza) ว่า ได้มีการส่งข่าวต่อๆกันว่าขณะนี้ มีการระบาดของ พาราอินฟูลเอ็นซ่า อย่างมากและเป็นอันตราย และเป็นไวรัสระบาดใหม่ ระบาดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ พบบ่อยรองจาก RSV จึงอยากให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ไวรัสตัวนี้ไม่ได้พบบ่อยรองจาก RSV อย่างที่พูด และไม่ได้เป็นไวรัสใหม่เป็นไวรัสที่รู้จักกันมากว่า 50 ปี ถ้าเรียงลำดับเชื้อไวรัสที่เกิดโรคทางเดินหายใจที่พบบ่อย ก็จะเป็น rhinovirus พบบ่อยที่สุด ส่วนที่พบรองลงมาก็คงจะเป็นโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ RSV และรองลงไปก็คงจะเป็น พาราอินฟูลเอ็นซ่า ที่พบพอๆกับ HMPV นอกจากนี้ยังมี adenovirus coronavirus etc ก็ไม่แปลกอะไรเลยยังมีวันละ 10 เป็นจำนวนมากที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
อยู่คนละกลุ่มกับไข้หวัดใหญ่ ไวรัสนี้ พบได้ตามฤดูกาล แต่อุบัติการณ์ไม่ได้มาก มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1 ถึงสายพันธุ์ที่ 4 แต่ละปีจะมีการพบแตกต่างกันไป
อาการของโรคจะเหมือนหวัดทั่วๆไป และบางครั้งคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรงแต่ละคนไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของร่างกาย เช่นเดียวกันกับโรคทางเดินหายใจทั่วๆไป ในเด็กเล็กโดยเฉพาะต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว เช่น 608 หรือ 708 ที่เราเรียกกัน ก็จะมีความรุนแรงมากกว่า
ไม่มียารักษาจำเพาะ รักษาตามอาการ การวินิจฉัยโดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องรู้ เพราะถ้าต้องการตรวจให้รู้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่ศูนย์ศึกษาอุบัติการณ์ของไวรัสต่างๆจะทำเฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น เพื่อเป็นข้อมูลแต่ละปี
ดังนั้นไม่มีอะไรน่าตื่นตระหนกเลย เป็นโรคที่พบเป็นประจำหรือพบได้ตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว
#ไข้หวัดพาราอินฟูลเอ็นซ่า
Cr:เพจYong Poovorawan