นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยรายงานติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนที่ฟื้นตัว ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น ความต่อเนื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 และการบริโภคเอกชนที่ยังเป็นแรงหนุนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจากระดับร้อยละ 8.5 ในปี 2566 เหลือร้อยละ 8.2 ในปี 2567 แต่ GDP ของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเป็น โดยมีความท้าทายหลัก คือ ระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนของภาคเอกชน และความยั่งยืนทางการคลัง ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ
นางเมลินดา กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมี ความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 3
ด้านการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ในทิศทางเดียวกับตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน แม้ว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก จะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม
ธนาคารโลก เห็นว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลัง จำเป็นต้องเพิ่มการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่ตรงเป้าหมาย เพิ่มการระดมรายได้จากภาษี และเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน พร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทย จะลดลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในปี 2554-2564 เหลือร้อยละ 2.7 ในช่วงปี 2565-2573
...
อ่านฉบับเต็ม https://documents1.worldbank.org/curated/en/099021125051038392/pdf/P5080791f9e0bc03b1ab8019753dc6998d3.pdf
#ธนาคารโลก
#เศรษฐกิจไทย